โดย…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
ปัจจุบันกองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศมีมากขึ้น มีความหลากหลายและหลายกองทุนมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าตลาดหุ้นไทย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นจีน หุ้นเทคโนโลยี หุ้นในตลาดอเมริกา ทำให้เกิดคำถามว่า แนวคิดเดิมทีควรลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก และกระจายลงต่างประเทศเพียงบางส่วนเพราะเสี่ยงกว่า เป็นการให้ลงทุนเพื่อความหลากหลาย และแสวงหาโอกาส ยังถูกต้องหรือไม่
การลงทุนทุกวันนี้ไร้ขอบเขต เทคโนโลยีข่าวสาร อินเทอร์เน็ตแทบจะเชื่อมทุกตลาดเข้าด้วยกัน แต่ก่อน เราแนะนำให้กระจายไปลงทุนต่างประเทศแต่จำนวนไม่มาก เพราะเรามีข้อมูลน้อยกว่า เรารู้จักตลาดหุ้นไทย หุ้นไทย บริษัทต่างๆ มากกว่า เพราะนี่เป็นบ้านเรา เราคุ้นเคย
แต่เดี๋ยวนี้ ข้อมูลข่าวสารมีมากขึ้น แม้เราจะยังไม่รู้จักมากกว่าเดิมเท่าไร แต่กองทุนรวมมีผู้จัดการกองทุนที่หาข้อมูลแทนเรา ทุกวันนี้ ผู้จัดการกองทุน รู้จักการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
ขณะที่ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นระหว่างตลาดหุ้นไทยกับต่างประเทศ รวมถึงความไม่รู้ ลดน้อยลง เพราะข้อมูลมีมากขึ้น ทั้งยังมีประเด็นเรื่องกฎเกณฑ์การควบคุมเงินไหลเข้า-ไหลออกที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะเงินไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ที่ถูกควบคุมเพื่อเสถียรภาพของค่าเงิน แต่ปัจจุบันภาครัฐก็ผ่อนคลายไปมากแล้ว มีการให้อิสระในการลงทุนมากขึ้น เปิดโอกาสให้นักลงทุนไปแสวงหาโอกาสรับผลตอบแทนทีดีขึ้นในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการมีระบบลงทุนผ่านกองทุนในต่างประเทศ ให้ผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศที่เก่งๆ มีข้อมูลมากกว่า ทำงานแทนให้ โดยในการลงทุนจะยังมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอยู่
ทั้งนี้ ปัจจุบัน เราจะได้เห็นกองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศเสนอขายเยอะมาก ธีมการลงทุนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากเดิมเป็นการมองว่าจะไปลงทุนประเทศไหน ภูมิภาคไหน แต่ระยะหลังจะเห็นการลงทุนในลักษณะธีมเฉพาะกลุ่ม หรือกลุ่มอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น ธีมเทคโนโลยี สุขภาพ หรือประเทศจีนที่มีความโดดเด่นชัดของเรื่องราวการเติบโต
สำหรับกลุ่มเทคโนโลยี ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน การใช้ชีวิตของเราก็ล้วนเชื่อมโยงอยู่กับเทคโนโลยีทั้งสิ้น อย่างเช่น การสวมนาฬิกาวัดการก้าวเดิน การเต้นของชีพจร ไปจนถึงคุณภาพในการนอนหลับ เพราะฉะนั้น เมื่อเชื่อว่า กลุ่มเทคโนโลยีมา แต่ในบ้านเราไม่มีธุรกิจแบบนี้เท่าไหร่นัก จึงต้องไปลงทุนในต่างประเทศ หรือถ้าต้องการลงทุนในกลุ่มสุขภาพ แต่บ้านเราส่วนใหญ่ก็จะมีเพียงโรงพยาบาล หรือมีบริษัทผลิตถุงมือยาง อุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่บ้าง ซึ่งก็โดดเด่นในช่วงที่มีความต้องการ แต่ถ้าต้องการลงทุนในหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยองค์รวม เช่น ไบโอเทคโนโลยี ที่มีการค้นคว้าวิจัย หรือบริการรูปแบบใหม่ๆ เครื่องมือ นวัตกรรมทางการแพทย์ ก็ต้องไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นการไปต่างประเทศ เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ได้มากขึ้น
โดยรวมแล้ว การไปลงทุนในต่างประเทศถือเป็นโอกาส เพียงแต่เราอาจจะไม่รู้จักบริษัทเหล่านั้นดีพอ หรือบางบริษัทเราอาจจะรู้จักดีกว่าบริษัทไทย เช่น กูเกิล ไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊ก แอปเปิ้ล ซึ่งเราเป็นลูกค้าอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรารู้จักทุกบริษัท ดังนั้นเมื่อต้องพิจารณาราคา ปัจจัยสนับสนุน นโยบายเพื่อลงทุน การหันมาใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีผู้จัดการกองทุนดูแล โดยมีทั้งรูปแบบที่ไปลงทุนผ่านหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศกองเดียวไปเลย (ฟีดเดอร์ ฟันด์) และไปเลือกลงทุนผ่านหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศหลายๆ กองทุน (ฟันด์ ออฟ ฟันด์) ก็ได้ หรือบางกองก็เป็นแบบผสมผสาน มีการเลือกลงทุนผ่านหน่วยลงทุนกองทุนต่างประเทศ และไปลงทุนตรงเองด้วย
ทั้งนี้ กองทุนรวมที่ไปลงทุนต่างประเทศมีความหลากหลาย หากนักลงทุนไม่รู้ว่าจะเลือกลงทุนอย่างไรดี กองทุนบัวหลวงก็มีกองทุนที่เป็นฟันด์ ออฟ ฟันด์ ซึ่งเลือกลงทุนในกองทุนรวมของเราเองให้ตามความเสี่ยงที่รับได้คือกลุ่ม BMAPS ซึ่งมีทั้งหมด 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนเปิดบัวหลวงบีแมพส์ 25 (BMAPS25) กองทุนเปิด บัวหลวงบีแมพส์ 55 (BMAPS55) และกองทุนเปิดบัวหลวงบีแมพส์ 100 (BMAPS100) เป็นทางเลือกได้
กองทุน BMAPS ทั้งหมดนี้ ผู้จัดการกองทุนไม่ได้มีประเด็นเรื่องต้องให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยเท่าไหร่ แต่เน้นมองว่า ระยะยาวธีมไหนจะมา เพื่อแสวงหาผลตอบแทนระยะยาว และระยะสั้นมีประเด็นอะไรที่มากระทบและจะมีการปรับสัดส่วนโดยลดน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนักตามปัจจัย เพราะตลาดมีความผันผวนง่ายขึ้น ความไม่แน่นอนสูงขึ้น กองทุนก็จะพิจารณาประเด็นเหล่านี้แล้วให้น้ำหนักการลงทุน ว่าช่วงนี้จะเพิ่มน้ำหนักที่กองทุนหนึ่ง แล้วลดน้ำหนักลงทุนอีกกองทุนหนึ่ง ดังนั้นถ้าอยากลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศ ไม่ยึดติดแล้วว่าจะต้องลงทุนต่างประเทศเพียง 10-20% แต่ไม่รู้จะลงทุนอย่างไร ก็ลงทุนผ่าน BMAPS ได้ แล้วมีวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ