BF Economic Research
ธปท. เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค. หดตัวในอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวในเดือนก่อน จากปัจจัยชั่วคราวที่หมดลง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน
รายละเอียดสำคัญ ดังนี้
- นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาในประเทศเป็นครั้งแรกในเดือน ต.ค. ที่จำนวน 1,200 คน หลังจากที่รัฐบาลได้ เริ่มดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบอยู่อาศัยระยะยาวผ่านการให้วีซ่าพิเศษ (Special Tourists VISA หรือ STV) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นมา
- การบริโภคครัวเรือนหดตัวที่ 1.1% YoY (vs. +0.4% เดือนก่อน) โดยเป็นผลมาจากการใช้จ่ายที่ลดลงในหมวดสินค้าไม่คงทน (-3.5% vs. +2.3% เดือนก่อน) และหมวดบริการ (-24.2% vs. -22.0% เดือนก่อน) ซึ่ง ธปท. ระบุว่าเป็นผลมาจากวันหยุดยาวพิเศษที่หมดไป (หยุดชดเชยสงกรานต์) และผลจากฐานสูงปีก่อน (รัฐดำเนินมาตรการชิมช้อปใช้) อนึ่ง รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่องที่ 12.2% หนุนด้วยการปรับดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ขณะที่ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังอยู่ในระดับสูง
- การลงทุนภาคเอกชนหดตัวที่ 4.9% YoY (vs. -2.0% เดือนก่อน) โดยเครื่องชี้การลงทุนหดตัวในวงกว้าง อาทิ การนำเข้าสินค้าทุน (-15.6% vs. -7.9% เดือนก่อน) และยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ (-5.0% vs. -1.6% เดือนก่อน)
- การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ (ไม่รวมเงินโอน) ขยายตัวที่ 3.6% YoY (vs. +46.5% เดือนก่อน) โดยรัฐบาลกลางยังคงหนุนเศรษฐกิจภาคการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ยังขยายตัว แต่การขยายตัวชะลอลงหลังจากมีการเร่งเบิกจ่ายในปีงบประมาณที่ผ่านมา
- เรามองว่า GDP ไทยในปี 2020 จะหดตัวที่ -6.4% ดีขึ้นกว่าประมาณก่อนหน้าที่ -8.0% เนื่องด้วยแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคในช่วงครึ่งหลังของปี สำหรับปี 2021/20 เรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.8% ยังต่ำกว่าการขยายตัวก่อนที่จะมี COVID-19 โดยที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงยังอยู่ที่ 0.5% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในกรอบ 0.5-1.0% ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน USDTHB ปี 2021 จะอยู่ในกรอบ 30-31.5 บาท/ดอลลาร์ฯ จากกรอบในปี 2020 ที่ 29.75-30.25 บาท/ดอลลาร์ฯ