BBLAM’s 2020 INVESTMENT THEMES
“เครือข่ายครอบคลุม สร้างความแข็งแกร่ง บรรษัทแข็งแรงสร้างความยั่งยืน”
ภาพรวมตลาดหุ้น
ตลาดหุ้นโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน หนุนโดยปัจจัยบวกจากความชัดเจนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยตลาดคาดว่า โจ ไบเดน จะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ช่วยลดความร้อนแรงของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน โดยมีบริษัทสำคัญ ได้แก่ Pfizer และ Moderna รายงานผลการทดลองที่มีประสิทธิภาพ ลดความกังวลต่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในขณะนี้ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาวะ Risk on ในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง โดย ตลาดหุ้นโลก (World MSCI Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.7% จากเดือนก่อนหน้าที่มีการปรับฐานลงประมาณ -3%
ปัจจัยข้างต้น สร้างความคาดหวังเชิงบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยความเสี่ยงของสงครามการค้าที่ลดลง เป็นบวกต่อภาพการค้าของโลก ขณะที่ วัคซีน จะช่วยทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆและการท่องเที่ยว สามารถฟื้นตัวได้เป็นปกติมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นในเดือนพฤศจิกายนจะเป็นในกลุ่มหุ้นวัฏจักร (Cyclical) ได้แก่ กลุ่มพลังงาน สถาบันการเงิน และสินค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) และภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีสัดส่วนหุ้นวัฏจักร (Cyclical) สูงในดัชนี เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว (DM) ปรับตัวขึ้นได้ดี รวมทั้งตลาดหุ้นไทยด้วย โดยมีกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) จากต่างชาติ ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยด้วยยอดซื้อสุทธิ 3.3 หมื่นล้านบาทในเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิเดือนแรกหลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 15 เดือน ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทย ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.9%
ด้านปัจจัยภายในประเทศ เศรษฐกิจไทยปรับตัวฟื้นขึ้นเป็นลำดับ เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก โดย GDP ไตรมาสที่ 3 ออกมาหดตัว -6.4% YoY จากที่หดตัว -12.1% YoY ในไตรมาสก่อนหน้า ดีกว่าตลาดคาดว่าจะหดตัว -8.8% YoY โดยเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นในวงกว้าง และยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ยังคงขึ้นอยู่กับ ประสิทธิภาพและการแจกจ่ายวัคซีน เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ประเด็นการเมือง แม้ยังมีการนัดชุมนุมอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีแนวโน้มไม่รุนแรง และการที่รัฐสภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น ช่วยลดความตึงเครียดทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง
กลยุทธ์การลงทุนของกองทุน
แนวโน้มการลงทุนในระยะข้างหน้า ตัวเลขเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นลำดับ ขณะที่นโยบายการเงินยังคงอยู่ในโหมดผ่อนคลาย นำโดย Fed ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเช่นเดียวกัน หนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยปัจจัยที่ต้องจับตามองในระยะข้างหน้า ยังคงเป็นประเด็น การแพร่ระบาดและการพัฒนาวัคซีน รวมถึงนโยบายของสหรัฐฯ หลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
ด้านตลาดหุ้นไทย ยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จาก Fund Flow ต่างชาติในระยะข้างหน้า แต่การที่ SET Index ปรับตัวขึ้นมาเร็ว อยู่ในระดับปัจจุบันที่ Fwd. PER 21 ที่ 19 – 20 เท่า ทำให้อาจมี Upside จำกัดในช่วงสั้น
กลยุทธ์การลงทุน ยังต้องมีความ Selective โดยเน้นหุ้นที่มีแนวโน้มของผลประกอบการที่ดี รวมถึงธุรกิจที่จะฟื้นตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า โดยผู้จัดการกองทุนมีมุมมองบวกต่อกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้
- กลุ่มขนส่ง : ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เติบโตระดับต่ำ เน้นลงทุนในบริษัทที่กำไรสามารถเติบโตได้จากการขยายเส้นทางเดินรถไฟฟ้าและทางด่วน
- กลุ่มค้าปลีก : ธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตอย่างสม่ำเสมอและได้รับผลกระทบจากวัฎจักรเศรษฐกิจต่ำ เลือกลงทุนในบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันและมีความสามารถในการขยายธุรกิจ
- กลุ่มวัสดุก่อสร้าง : ช่วงครึ่งปีหลัง ภาครัฐจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งจากงบปัจจุบันที่มีความล่าช้าในการเบิกจ่ายในช่วงที่ผ่านมา งบประมาณใหม่ที่จะเริ่มเดือนตุลาคม และงบฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รอการอนุมัติ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่ม
ผลการดำเนินงานของกองทุน ณ 30 พฤศจิกายน 2563
น้ำหนักการลงทุนของกองทุนแยกตามหมวดธุรกิจเทียบกับ Benchmark ณ 30 พฤศจิกายน 2563
เงินบริจาคจาก BKIND ไปช่วยอะไรในสังคมแล้วบ้าง*
ตั้งแต่จัดตั้งกองทุน กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) ได้มอบเงินค่าจัดการกองทุน 40% คิดเป็นประมาณเกือบ 40 ล้านบาท ไปสนับสนุน 51 โครงการ ในทุกภูมิภาคของไทย โดยสามารถแบ่งได้หลากหลายประเภทโครงการ ซึ่งในฉบับนี้ขอนำเสนอด้านที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมืองและสิ่งแวดล้อม กลไกสนับสนุนโครงการเพื่อสังคม และการต่อต้านคอรัปชั่น ดังนี้
3 จังหวัดชายแดนใต้
- กลุ่มวิสาหกิจสตรีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 15 กลุ่ม ได้รับทุนกู้ยืมเพื่อพัฒนากิจการเพื่อให้สมาชิกมีอาชีพและพึ่งพาตนเองได้ และเกิดการเชื่อมโยงกลุ่มวิสาหกิจสตรีเข้ากับผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อเสริมศักยภาพในการเข้าถึงตลาดที่กว้างกว่าตลาดในพื้นที่ (โครงการทุนหมุนเวียนเพื่อกลุ่มวิสาหกิจของสตรี 3 จังหวัดภาคใต้)
- เกิดกลไกการสร้างนักข่าวพลเมืองและการผลิตข่าวสารส่งเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ มีการนำเสนอข่าว 487 ชิ้นที่มีผู้เข้าชม 164,627 คนต่อปี โดย 51% มาจากกทม. (โครงการนักข่าวชายแดนใต้)
- เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนใน 4 พื้นที่ในจังหวัดยะลา มีความพร้อมในการดำเนินกระบวนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน นำไปสู่การค้นหา ระดมปัญหา การตัดสินใจร่วมกัน จนเป็นกติกาชุมชนและการแบ่งหน้าที่กันดูแลเยาวชนให้ปลอดภัย (โครงการ Peace Please)
- ขยายกระบวนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเยาวชน 8 พื้นที่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นกลไกกติกาชุมชนที่ผู้มีส่วนได้เสียในชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดและปฏิบัติด้วยกัน (โครงการ Peace Please ปีสอง)
เมืองและสิ่งแวดล้อม
- เกิดกลไกการตรวจสอบและรายงานข้อมูลป้ายผิดกฎหมายและสิ่งกีดขวางบนถนน เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีผู้พิการเป็นผู้ทำการสำรวจ ข้อมูลที่สำรวจได้จะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการแก้ไข (โครงการสังคมอยู่ดีกับพลังตาพลเมือง)
- เกิดการออกแบบและติดตั้งป้ายรถประจำทางใน กทม. ที่ใช้กระบวนการความมีส่วนร่วมและการออกแบบที่ผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประชาชนที่ใช้รถประจำทางสามารถใช้รถประจำทางได้ง่ายยิ่งขึ้น ดำเนินการออกแบบและติดตั้งไปแล้ว 18 ป้าย ในกทม. (โครงการขนส่งมวลชนที่ทุกคนออกแบบได้)
กลไกสนับสนุนโครงการเพื่อสังคม
- เกิดระบบการเชื่อมโยงอาสาสมัครจากภาคธุรกิจมาสนับสนุนองค์กรภาคสังคมและกิจการเพื่อสังคม โดยมีองค์กรได้รับประโยชน์แล้ว 10 องค์กร มีอาสาสมัครรวม 418 คนใน 1 ปี (โครงการ Hand Up)
การต่อต้านคอร์รัปชัน
- อบรมนักเรียน 5,000 คน ครู 150 คน ให้รู้เท่าทันและปลูกฝังค่านิยมในการต่อต้านคอร์รัปชั่นในโรงเรียนกว่าร้อยแห่งทั่วประเทศ ผ่านการนำหลักสูตรโตไปไม่โกง ไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียน (โครงการโตไปไม่โกง)
- เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาและเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ประชาชน 8.2 ล้านคนเข้าถึงข่าวสารประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน ได้รับข้อมูลและเกิดความตระหนักถึงปัญหาและความร้ายแรง นำไปสู่ความมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อลดและป้องกันปัญหา (โครงการสถาบันอิศรา)
- เกิดหลักสูตร E-Learning เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการเป็นสุจริตชน ต่อต้านการคอร์รัปชัน ขยายผลจากกลุ่มเป้าหมายนักเรียนนักศึกษาที่ได้ทำลองทำเป็นผลสำเร็จ เข้าสู่เป้าหมายใหม่ คือ กลุ่มข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ (โครงการสุจริตไทย)
- เกิดกลไกความมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไปในการให้ข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ประชาชน 7,538,573 คนเข้าถึง และ/หรือ มีส่วนร่วมในการส่งข้อมูลประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ประชาชนทั่วไปในวงกว้างได้รับข้อมูลและเกิดความตระหนักถึงปัญหาและความร้ายแรง นำไปสู่ความมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อลดและป้องกันปัญหา (โครงการ Crowdsourcing Investigative News)
นั่นคือสรุปผลงานที่ไม่ใช่ตัวเงินของกองทุนรวมคนไทยใจดี BKIND ในช่วงกว่า 4 ปีที่จัดตั้งกองทุนนี้ขึ้น ขอขอบพระคุณผู้ลงทุนทุกท่าน ที่ล้วนมีส่วนสร้างประโยชน์ต่อสังคมไทย ผ่านการลงทุนในกองทุนนี้
หมายเหตุ : *คัดลอกจากบทความ “เกือบ 6 ปี กับผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินจากการลงทุนผ่าน BKIND” โดย คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หากสนใจบทความฉบับเต็ม สามารถติดตามได้ที่ Facebook กองทุนรวม คนไทยใจดี
คำเตือน – ข้อมูลในบทความนี้เป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงได้โดยทั่วไป และเป็นข้อมูลที่เชื่อว่าน่าจะเชื่อถือได้ แต่ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (“บริษัท”) มิได้ยืนยันหรือรับรองถึงความถูกต้อง หรือสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด ความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอในมุมมองของบริษัท และเป็นความคิดเห็น ณ วันที่ปรากฏในบทความเท่านั้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังวันดังกล่าว โดยบริษัทไม่จำเป็นต้องแจ้งสาธารณชน หรือผู้ลงทุนทราบ บทความฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้น บริษัทไม่รับผิดชอบต่อการนำข้อมูลหรือความคิดเห็นใดๆไปใช้ในทุกกรณี ดังนั้นผู้ลงทุนควรใช้ดุลพินิจในการพิจารณา เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้ยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต