โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®
กองทุนบัวหลวง
“อยากมีเงินเหลือก็ต้องออมเงินก่อนใช้” ประโยคนี้ฟังเผินๆ แล้วพูดได้ง่าย ฟังก็ง่าย แต่ทำไมเวลาทำช่างยากเย็นเหลือเกิน ลองมาดูกันว่า มีวิธีไหนช่วยให้เราออมเงินสำเร็จกันได้บ้าง
เรื่องนี้เริ่มต้นได้ด้วยการลงมือทำตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยคำง่ายๆ ที่ในสมัยเด็ก บางคนอาจเคยได้ยินบ่อยๆ คือ คำว่า “เขียม” หมายถึง ใช้จ่ายอะไรก็ให้ประหยัด นี่คือ วิธีที่ 1 ที่จะช่วยให้เราออมสำเร็จ ต้องฝึกให้เป็นนิสัย เมื่อโตขึ้นมาจะได้ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
ถ้าเด็กๆ เราโตมากับคำนี้ โตขึ้นมาเวลาที่เราจะใช้จ่ายอะไร เราจะนึกถึงอยู่ตลอดเวลา ว่า อย่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อย่าใช้จ่ายเกินตัว จะทำให้เราไม่ใช้จ่ายมากจนต้องไปก่อหนี้ เราอยู่ได้ยาวๆ เพียงแค่ใช้จ่ายอย่างประหยัด คิดก่อนซื้อ
นอกจากนี้ เรามักจะได้ยินผู้ใหญ่สอนว่า เงินที่ให้ไป มีเท่าไหร่ให้เหลือเก็บไว้บ้าง แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นก็มีแนวคิดที่น่าสนใจกว่า คือ การปรับแนวคิดมาเป็น “เก็บก่อนค่อยใช้” โดยหักเงินเพื่อออมก่อนใช้จ่าย ถ้าหักได้ 10% คือ ธรรมดา หักได้ 20% ขึ้นไปถือว่า ทำได้ดีมาก
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาแบบนี้ แค่ให้พอมีกิน ให้ครอบครัวอยู่ได้ ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดมากๆ ใช้เงินเท่าที่จำเป็นจริงๆ ดังนั้น แนะนำให้เดินทางสายกลาง หักไว้ 15% ของเงินได้ที่เราได้รับ เพื่อนำไปออมไว้ก่อน ถ้าใครยังไม่มีเงินออมเลย เงินออมส่วนนี้ให้สะสมไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน หากเกิดเหตุการณ์ไม่คิดฝัน จะได้ดึงเงินส่วนนี้มาใช้ โดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใคร
ทั้งนี้ ตัวเลข “15” นี้ มีความหมายมากกว่าที่คิด ไม่ใช่เพียงเดินทางสายกลาง หักเงินไว้ออม 15% แล้วดีเท่านั้น เพราะหากใครที่ทำงานมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แนะนำเลยว่า ให้หักเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 15% เต็มจำนวน จะได้มีเงินเก็บไว้หลังเกษียณแน่ๆ นี่เป็นกุศโลบายที่ดีที่บริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน เพราะรักและห่วงใย พนักงานที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา จะได้สบายหลังเกษียณ
วิธีหักเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 15% นอกจากจะทำให้สามารถหักเงินเก็บก่อนใช้ได้อีกทางแล้ว ยังเป็นวิธีที่ช่วยให้เราแบ่งเงินออมเงินลงทุนได้อย่างดีด้วย เพราะเป้าหมายการเกษียณสุข ก็ไม่อยากให้ละเลย
สำหรับผู้ที่อาจจะทำงานฟรีแลนซ์ หรือบริษัทไม่ได้มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ต้องน้อยใจไป เพราะยังมีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ที่ช่วยให้เราออมเงินได้เต็มที่อีก 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) ประกันชีวิตแบบบำนาญ (ถ้ามี) หรือหากใครที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว แต่อยากออมเพิ่มอีกในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ก็สามารถทำได้
สุดท้าย ที่จะช่วยให้ใครหลายคนฝันเป็นจริง เกษียณสุขแบบไม่ต้องลุ้นตัวเลขทุกครึ่งเดือน นั่นก็คือ ต้องตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง มองเห็นตัวเองว่า อีก 10 ปี หรือ 15 ปี อยากเห็นตัวเองเป็นแบบไหน หากอยากสบายในอนาคต ตอนนี้ยังมีเรี่ยวแรงทำงาน หาเงินได้ ก็ต้องรู้หา รู้ทำ รู้เก็บ รู้ใช้จ่าย จะได้แบ่งเงินเก็บออมและลงทุนได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน นอกจากตัวเองแล้ว หากใครที่ต้องดูแลคนในบ้าน ดูแลคนในครอบครัว ก็ต้องคิดเผื่อไปถึงคนในครอบครัวไว้ด้วย