By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์
BF Knowledge Center
สไตล์การบริหารพอร์ตของนักลงทุนหรือการบริหารกองทุนของผู้จัดการทุน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ การบริหารแบบ Active และ Passive ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดกันอยู่มาก ถ้ายกตัวอย่างกองทุนหุ้น นักลงทุนมักเข้าใจว่ากองทุนที่เป็นประเภท Active Fund ผู้จัดการกองทุนต้องขยันทำการซื้อขายหุ้นบ่อยๆ เพื่อทำกำไร โดยคาดหวังว่าผู้จัดการกองทุนต้องมีความรู้ความสามารถสูงกว่านักลงทุนทั่วไป และมีข้อมูลที่ดีกว่า ควรมองหรือคาดการณ์ได้ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลง และหุ้นตัวไหนจะขึ้น จึงเข้าไปซื้อไว้ก่อนและขายออกที่ราคาสูงๆ
ในความเป็นจริงผู้จัดการกองทุนไม่ได้มีความสามารถในการคาดการณ์ทิศทางของตลาดหรือหุ้นรายตัวได้ถูกต้องแม่นยำเหนือนักลงทุนทั่วไป ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนของผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากความสามารถในการจับจังหวะตลาดและทำกำไรจากการขึ้นลงของราคาหุ้น (ถ้าเทียบกันแล้วนักลงทุนอาจซื้อขายหุ้นบ่อยกว่าผู้จัดการกองทุนด้วยซ้ำไป)
ผลตอบแทนส่วนใหญ่มาจากการคัดสรรและเลือกลงทุนในหุ้นที่ผู้จัดการกองทุนได้ทำการวิเคราะห์มาอย่างรอบด้านแล้วว่าเป็นหุ้นที่ราคามีโอกาสขึ้นดีจากพื้นฐานของตัวบริษัทที่มียอดขายและกำไรที่ดี มีอัตราการเติบโตสูง มีองค์ประกอบของสินค้า/บริการ ผู้บริหาร แผนธุรกิจ ที่สอดคล้องและได้ประโยขน์จากปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์และติดตามข้อมูลของบริษัทต่างๆ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจ อุตสหากรรม อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความ Active หรือความขยันของผู้จัดการกองทุน ซึ่งเน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้นที่คัดเลือกมาเป็นอย่างดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อขายหุ้นบ่อยๆ ให้สิ้นเปลืองค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ โดยยังไม่นับโอกาสขาดทุนจากการเก็งกำไรในระยะสั้น
กองทุนที่บริหารแบบ Passive ผู้จัดการกองทุนไม่ได้ทำงานน้อยหรือขี้เกียจ แต่เป็นกองทุนที่มุ่งหวังผลตอบแทนในระดับเดียวกับตลาด เช่น กองทุนหุ้น SET50 คาดหวังที่จะสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับ ดัขนี SET 50 เป็นการบริหารพอร์ตภายใต้แนวคิดที่ไม่เชื่อว่าในระยะยาวผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนของตลาดหรือดัชนี จึงไม่จำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมการจัดการอัตราสูงเพื่อจ้างผู้จัดการกองทุน แต่ใช้วิธีบริหารแบบง่ายๆ ไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์หุ้นและภาวะเศรษฐกิจให้วุ่นวาย
ทั้งนี้ใช้วิธีจัดสรรพอร์ตโดยซื้อหุ้นทุกตัวตามน้ำหนักที่ใช้ในการคำนวนดัฃนี หรือใช้แบบจำลองในการคำนวนเลือกหุ้นและจัดสรรสัดส่วนให้ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับตลาดมากที่สุด จึงเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการในอัตราต่ำ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ Passive Fund