โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPT™
กองทุนบัวหลวง
ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 หลายคนน่าจะรับรู้ได้ถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินแล้ว เนื่องจาก ส่งผลกระทบต่อเราในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การใช้ชีวิต การทำงาน รวมถึงการเงินด้วย
หลายคนบอกว่า คนที่อยู่รอดปลอดภัยดี คือ คนที่รู้จักปรับตัว ปรับรูปแบบการใช้ชีวิต ปรับวิธีการทำงาน แต่สิ่งที่ปรับยากมากที่สุดคือ “เรื่องเงิน” เพราะในสถานการณ์แบบนี้ เชื่อว่า หลายคนอาจมีรายรับน้อยลงกว่าเดิม ตั้งแต่นายจ้างอาจปรับลดเงินเดือน งดโอที ไม่มีโบนัส ส่วนคนที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ลูกค้าก็อาจเข้ามาใช้บริการน้อยลง เนื่องจากต้องคำนึงเรื่องสุขอนามัย Social Distancing หรือคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ ก็อาจมีจำนวนงานว่าจ้างน้อยลง เพราะบริษัทที่ว่าจ้างต้องระมัดระวังค่าใช้จ่าย
หลายคนมีความกังวลใจ เพราะในขณะที่รายรับลดลง แต่รายจ่ายต่างๆ ของเรากลับไม่ได้ลดลงตามไปด้วย มิหนำซ้ำยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีก ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟ เพราะเราต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น หรือ ค่าบริการสั่งอาหารออนไลน์ ทำให้คิดว่า เอ๊ะ! หรือเราต้องทำอะไรสักอย่างหรือเปล่า?
อะไรสักอย่างที่ว่า นั่นก็คือ “การทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย” ซึ่งอันที่จริง เราควรทำมาก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ เพราะถ้าให้เปรียบเปรย ความมั่งคั่งทางการเงินก็เหมือนตุ่มน้ำ รายรับเหมือนการเติมน้ำเข้าตุ่ม ส่วนรายจ่ายก็เหมือนรูรั่วของตุ่มน้ำ นั่นหมายความว่า รูรั่วยิ่งเยอะ ก็ต้องใช้พลังในการเติมน้ำให้เต็มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เราอาจไม่ทันสังเกตรูรั่ว เพราะเรามั่นใจว่า จะมีน้ำมาเติมเต็มอยู่เรื่อยๆ แต่ตอนนี้ทุกคนก็น่าจะเริ่มรู้แล้วว่า มันมีความไม่แน่นอนของแหล่งน้ำนั้นอยู่
ดังนั้น ทางออกที่จะทำให้เรามีเงินเหลือมากขึ้นกว่าเดิม ก็คือ การจัดการอุดรูรั่ว ด้วยการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ จากการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะว่า เงินที่เราใช้จ่ายออกไปนั้น เพื่อสิ่งที่เราต้องการที่จะใช้อรรถประโยชน์จากมันจริงๆ หรือแค่อยากได้มาเพื่อความพึงพอใจ
วิธีการแยก Need กับ Want ออกจากกันให้ชัดเจน ต้องเริ่มต้นจากการทำบัญชีรายรับ–รายจ่าย ไม่ว่าจะเขียนลงสมุด ทำลงตาราง Excel หรือทำผ่านแอปพลิเคชัน ก็ขอให้เลือกสักวิธีหนึ่ง ทีนี้เราจะเห็นชัดแล้วว่า รายจ่ายใดเป็น Need คือรายจ่ายที่จำเป็น และรายจ่ายใดเป็น Want คือ ไม่จ่ายก็ได้
หลังจากนั้น ถ้าเราสามารถปรับลด หรือเว้นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้ เราก็จะมีเงินเหลือมากขึ้น โดยเงินส่วนที่เหลือนั้น อาจจัดสรรมาเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อที่เราจะได้มั่นใจมากขึ้น หากต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันอย่างโควิด หรือบางคนก็อาจนำเงินส่วนนี้มาลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนก็ได้
เชื่อหรือไม่ว่า คนที่ประสบความสำเร็จทางการเงิน ล้วนให้ความสำคัญกับการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพราะการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย คือ การบริหารจัดการเงินเบื้องต้น ที่ทำให้รู้ว่า “เรามีเงินเหลืออยู่ในมือเท่าไหร่” และคนที่รู้ว่า ตัวเองมีเงินอยู่เท่าไหร่ จะเป็นคนเดียวกันกับคนที่รู้ว่าตัวเองสามารถใช้เงินได้เท่าไหร่ ถึงจะพอดีหรือเหมาะสมกับฐานะ ส่งผลให้ไม่มีหนี้สินจากการเผลอใช้จ่ายเกินตัว
นอกจากนี้ การรู้จักรายรับ–รายจ่ายของตัวเอง ยังทำให้สามารถวางแผนการออม การลงทุนอย่างมีวินัยได้ง่ายขึ้นด้วย สมมติว่า เราทำบัญชีรายรับ–รายจ่าย และพบว่า มีเงินเหลือต่อเดือน 7,000 บาท เราก็สามารถกำหนดได้ว่า ในแต่ละเดือน ออมไว้ในสภาพคล่องหรือสำรองไว้เพื่อซื้อความสุข 5,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 2,000 บาท ลงทุนเพื่อให้มีโอกาสเติบโตแบบนี้ เป็นต้น