กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (BFRMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (BFRMF)

Market Update: BFRMF

กลยุทธ์ในการบริหารกองทุน: กองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนมุ่งหวังผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)

• ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา (มกราคม 2561) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีการเปลี่ยนแปลงผสมผสานกันทั้งขึ้นและลง โดยปรับตัวลดลงในช่วงอายุคงเหลือไม่เกิน 11 ปี และอีกช่วงคืออายุคงเหลือ 22 – 30 ปี ขณะที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงอายุคงเหลือ 12 – 20 ปี

• ราคา NAV กองทุน BFRMF ได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยสะท้อนการ Mark to Market ราคาตราสารหนี้ (พันธบัตร หุ้นกู้) ในช่วงดังกล่าวจาก 14.4759 บาทต่อหน่วย (29 ธ.ค. 2560) เป็น 14.5117 บาทต่อหน่วย (31 ม.ค. 2561)

• ทั้งนี้ ทีมจัดการลงทุนประมาณการว่า ผลตอบแทนในอนาคตก่อนหักค่าใช้จ่ายกองทุน (ในอีก 2 เดือนข้างหน้า) น่าจะอยู่ราว 1.50 -1.70% ต่อปี โดยมีอัตราผลตอบแทนปัจจุบัน (Current yield / Running yield) ก่อนหักค่าใช้จ่ายกองทุน BFRMF อยู่ที่ 1.67%

ประเด็นเด่นในตลาดตราสารหนี้

• ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา   อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1-10 ปีปรับลดลง 0.01% ถึง 0.09%  เป็นผลมาจากเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยที่สูงถึง 63,370 ล้านบาท และผลการประมูลพันธบัตรอ้างอิงรุ่นอายุ 5 และ 10 ปีที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดีด้วยสัดส่วน Bid-to-Cover ที่สูงถึง 4.44 และ 3.87 เท่า   ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรช่วงอายุใกล้เคียงปรับตัวลดลงทันทีหลังการประมูล

• อย่างไรก็ตาม   อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยกลับมาเร่งตัวอีกครั้งในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯในเดือนมกราคมที่ออกมาสูงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ รวมทั้ง สัญญาณการเร่งตัวของค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น 0.3%จากเดือนก่อน    ทำให้นักลงทุนกังวลต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อที่จะกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐฯเร่งกระบวนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดการณ์เดิม    จากปัจจัยกดดันดังกล่าวทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 2.85%  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี

• สำหรับผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในเดือนมกราคมยังมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25 – 1.50% พร้อมส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามเดิม และมีมุมมองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและตลาดแรงงานในระดับที่ดี ด้านภาวะเงินเฟ้อ   คณะกรรมการฯประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯจะค่อยๆเร่งตัวขึ้นในปีนี้และขยับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ได้ในระยะต่อไป

• ขณะที่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของไทยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้   เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมเพียงพอต่อการช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและยังช่วยให้อัตราเงินเฟ้อสามารถขยับกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ในอนาคต

• สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย   กนง.คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนของการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัว    รวมทั้ง   การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวตามแรงสนับสนุนของภาครัฐ     ด้านการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวและแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐ     อย่างไรก็ตาม   เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐฯ   ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และกนง.ยังแสดงความกังวลต่อความผันผวนที่สูงขึ้นของค่าเงินบาทซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้

มุมมองในตลาดตราสารหนี้ : หาโอกาสลงทุนจากความผันผวนในตลาด

• แนวโน้มตราสารหนี้ไทยในอนาคต คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะเคลื่อนไหวอย่างผันผวนมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักๆหลังตัวเลขเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง