โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®
ถ้าพูดถึงเรื่องการลงทุน เราสามารถลงทุนกันได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ยิ่งอายุน้อยๆ ยิ่งดี เพราะจะได้เริ่มสะสมประสบการณ์การลงทุน แต่ถ้าจะมาเริ่มลงทุนตอนอายุมากก็ไม่แปลกอะไร เพราะเราพร้อมลงทุนในตอนนั้น ขอเพียงให้ได้เริ่มต้นลงทุน ก็ไม่มีคำว่าสายเกินไป แต่จะเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม ต้องมีอายุเท่าไหร่ดี?
จริงๆ แล้วการลงทุนในกองทุนรวมสามารถเริ่มต้นลงทุนได้เมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือเรียกว่าบรรลุนิติภาวะนั่นเอง ถ้าอยากลงทุนก่อนก็ต้องลงทุนในชื่อของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น ถ้าอยากลงทุนด้วยตัวเองแนะนำให้ลงทุนเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็จะสามารถลงทุนได้ตามใจตัวเองเลยค่ะ วันนี้เอ๋มีคำแนะนำการลงทุนตามช่วงอายุมาฝากกัน
อายุ 20 – 29 ปี – เป็นช่วงวัยรุ่น อยากรู้อยากลอง ดังนั้น การเริ่มต้นลองลงทุนในกองทุนรวมจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ด้วยอายุยังน้อย เงินลงทุนยังมีไม่มากนัก จึงควรแบ่งเงินลงทุนส่วนหนึ่งไว้ในกองทุนรวมตลาดเงินเพื่อให้มีสภาพคล่อง พร้อมลงทุนจริงจังเมื่อไหร่ก็สับเปลี่ยนหรือขายคืนได้ทันที ในเทรนด์กองทุนสุดฮิต โลกแห่งอนาคต และกองทุนกลุ่มเทคโนโลยี เพราะเป็นสิ่งที่เราจะได้ใช้ในอนาคต และมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานเพียงพอ
อายุ 30 – 39 ปี – รายได้เริ่มมากขึ้น สิ่งที่จะช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลงก็คือกองทุนที่ช่วยลดหย่อนภาษีอย่างเช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ช่วยทั้งในเรื่องการลงทุนสำหรับเป้าหมายเกษียณ และช่วยลดภาษี อีกทั้งยังมีหลากหลายนโยบายให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายลงทุนในเทคโนโลยี กองทุนรวมต่างประเทศ และอีกส่วนหนึ่งคือการลงทุนในกองทุนเปิดทั่วไป สำหรับความต้องการใช้เงินในช่วงที่เหมาะสม โดยเลือกลงทุนในกองทุนเปิดที่สามารถซื้อ ขาย ได้ทุกวัน เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้นไทย รวมถึงกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ
อายุ 40 – 49 ปี – ช่วงวัยนี้หลายคนบอกว่า Life start at 40 เป็นช่วงที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากมาย ไม่ว่าจะความล้มเหลวในชีวิต ต่างๆ ทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน การลงทุนเองก็เช่นกัน ด้วยช่วงอายุที่มากขึ้น จึงต้องระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น แต่ยังคงเน้นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สำหรับกองทุนเปิดทั่วไป อย่างเช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงสูง ก็อาจทยอยปรับลดลงมาบ้าง
อายุ 50 – 59 ปี – เป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุ ช่วงนี้ควรดูว่าปริมาณเงินลงทุนที่เราลงทุนมานั้น เพียงพอกับเงินที่เราต้องการใช้หลังเกษียณหรือยัง หากเพียงพอแล้ว ควรปรับพอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่ ให้มาอยู่ในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ อย่างเช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ ส่วนที่เราคิดว่าอยากให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนบ้าง ก็ยังคงลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงได้ตามใจชอบ ที่สำคัญช่วงนี้ต้องดูว่ายังมีหนี้สินอะไรเหลืออีกบ้าง ควรปิดภาระหนี้ที่มีให้หมด
อายุ 60 ปีขึ้นไป – สำหรับใครที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่หลายคนเกษียณแล้ว ดังนั้น เงินลงทุนส่วนใหญ่จึงอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะช่วงอายุนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเกษียณ ดังนั้น จึงต้องปรับเปลี่ยนการลงทุนออกโดยแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน 30:40:30
- ส่วนที่ 1 เตรียมไว้ใช้จ่ายในช่วง 10 ปีแรก (อายุ 61-70 ปี) แบ่งเงินเพื่อเตรียมใช้จ่ายในช่วงนี้ประมาณ 30% ของเงินทั้งก้อน โดยแบ่งไว้ใช้จ่ายส่วนหนึ่งและลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ส่วนหนึ่ง อาจมีลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนบ้างเล็กน้อย (ประมาณ 10%ของเงินก้อน 30%) ช่วงนี้หลายคนยังสามารถหารายได้ได้อีก ยังสามารถเก็บออมเพิ่มเติมได้
- ส่วนที่ 2 เตรียมไว้ใช้จ่ายในช่วง 10 ปีที่สอง (อายุ 71-80 ปี) แบ่งเงินลงทุนในช่วงอายุนี้ประมาณ 40% ซึ่งเป็นการใช้เงินในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ดังนั้น เงินลงทุนในส่วนนี้ สามารถแบ่งออกเป็นตราสารหนี้ 70% อีก 30% เป็นการลงทุนในตราสารทุน
- ส่วนที่ 3 เตรียมไว้ใช้จ่ายในช่วงสุดท้ายของชีวิต (อายุ 80 ปีขึ้นไป) ซึ่งควรมีเงินลงทุนสำหรับช่วงนี้ประมาณ 30% สำหรับใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายของชีวิต ดังนั้น การใช้เงินในช่วงนี้จะเป็นในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า สามารถแบ่งเงินมากกว่า 50% สำหรับการลงทุนในตราสารทุน เพื่อให้เงินมีโอกาสเติบโต สำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
รู้แบบนี้แล้ว อย่าลืมเลือกรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง จัดสัดส่วนการลงทุน แล้วลงทุนกันได้เลยค่ะ ลงมือก่อน มีโอกาสประสบความสำเร็จก่อน ที่สำคัญต้องมีวินัยในการลงทุนด้วยค่ะ