โดย…ทนง ขันทอง
ในสัปดาห์ที่แล้ว ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ แห่ง Berkshire Hathaway ได้เขียนจดหมายถึงนักลงทุนว่า ตลาดตราสารหนี้ หรือบอนด์ ไม่ควรที่จะเป็นแหล่งในการลงทุนอีกต่อไป
สาเหตุเป็นเพราะว่า ผลตอบแทนจากบอนด์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในเดือน ก.ย. ปี 1981 รายได้จากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ 15.8% แต่ ณ สิ้นสุดปี 2020 ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีนี้ ลดลงไปเหลือ 0.93% หรือเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วเป็นการลดลงถึง 94%
แม้ว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรจะดีดสูงขึ้น หลังจากปู่เขียนจดหมายถึงนักลงทุน แต่ยังคงต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีต ทำให้นักลงทุนฝากความหวังที่จะได้รายได้จากพันธบัตรเป็นกอบเป็นกำเหมือนในอดีตไม่ได้อีกต่อไป
“นักลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำนาญ บริษัทประกันภัย หรือผู้ที่อยู่ในวันเกษียณกำลังเผชิญกับอนาคตที่ค่อนข้างมืดมน” ปู่บัฟเฟตต์ บอกเอาไว้
อย่างไรก็ตาม Ye Xie นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก มองว่า ตลาดพันธบัตรของจีนกลายเป็นเหมือนหลุมหลบภัย หรือที่เรียกว่า เซฟเฮเว่น ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดบอนด์ของโลกโดนเทขายจากความกังวลใจในเรื่องเงินเฟ้อ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจีน อายุ 10 ปี กลับสูงขึ้น 0.01% เป็น 3.28% เมื่อเทียบกับ 0.15% สำหรับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ในแง่หนึ่ง ก็สะท้อนสถานภาพของจีนว่าเป็นตัวนำของดัชนีชี้วัดในเศรษฐกิจโลก เนื่องจากจีนเป็นประเทศแรกที่ฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัส
อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจีนเริ่มที่จะไต่สูงขึ้นในเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว และไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากในเดือน พ.ย. ปีเดียวกัน อาจจะมองได้ว่าตลาดพันธบัตรของโลกกำลังมีประสบการณ์กับสิ่งที่ตลาดพันธบัตรของจีนได้เผชิญมาแล้วหลายเดือนก่อน
เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนอยู่ในระยะของการพัฒนาที่ไม่เหมือนกัน ทำให้การลงทุนในพันธบัตรของจีนโดยไม่ต้องซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะให้ประโยชน์ในด้านการกระจายความเสี่ยงการลงทุน ความจริงแล้วตลาดพันธบัตรของจีนและตลาดพันธบัตรของโลกมีความสัมพันธ์ในระดับที่ต่ำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ประธานของเฟดสาขาเซ็นต์ หลุยส์ นาย James Bullard บอกว่า อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ยังไม่ได้ดีดกลับไปอยู่ระดับก่อนการระบาดของไวรัส เพราะฉะนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องการคอยดูว่า ตลาดพันธบัตรจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร ก่อนที่จะมีมาตรการออกมา ดังนั้นนักลงทุนต้องนั่งรัดเข็มขัดให้แน่นๆ
ประเด็นสุดท้ายที่ต้องพิจารณา คือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อเทียบกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยไบเดนยังมองจีนเป็นคู่แข่งที่จะต้องถูกบริหารจัดการเพื่อไม่ให้สหรัฐฯ เสียประโยชน์ หรืออิทธิพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย สงครามการค้า กำแพงภาษี การกีดกันธุรกิจ หรือบริษัทเทคโนโลยีของจีนยังคงจะดำเนินต่อไป ขณะที่ จีน ล่าสุดตอบโต้ไบเดนด้วยการกล่าวหาว่า นโยบายไบเดนดูแล้วไม่ได้แตกต่างจากทรัมป์แต่อย่างใด แล้วถือโอกาสขยายเวลาการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ 65 ชิ้นต่อไปอีก แรงมาก็แรงไป