โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®
อายุ 40 ปี เรียกว่าเป็นวัยกลางคนกันแล้ว บางคนคิดว่าเราเพิ่งผ่านวัยรุ่นมาเมื่อไม่นานมานี้เอง ในขณะที่อีกกลุ่มนึงก็ทอดถอนใจว่าลูกยังเล็ก อีกหลายปีกว่าลูกจะเรียนจบ ลูกเรียนจบ ตัวเราก็เกษียณแบบตามมากันติดๆ เลยทีเดียว กับอีกกลุ่มที่เตรียมพร้อมเรื่องเกษียณมาตั้งนานแล้ว เพราะรู้ว่าท้ายที่สุดต้องเกษียณ
ถ้ามองดูแล้วจากคน 3 กลุ่ม กลุ่มสุดท้ายมีการเตรียมพร้อมเรื่องเกษียณมาแล้ว เป็นเพราะเขาห่วงเรื่องเกษียณมากที่สุด จึงเตรียมความพร้อมมาก่อนกลุ่มอื่นๆ แต่ 2 กลุ่มแรก ยังดูน่าเป็นห่วงอยู่ เอ๋มีคำแนะนำคนที่อายุ 40 กับ 2 กลุ่ม แบบนี้ค่ะ
คน 40 ปี กลุ่มที่คิดว่าตัวเองเพิ่งผ่านวัยรุ่นมาหมาดๆ กลุ่มนี้ ถ้าดูแล้วน่าจะเป็นคนโสด ทำงานกระฉับกระเฉง ว่องไว เวลาผ่านไปไวโดยไม่ทันตั้งตัว ทำให้ยังไม่ได้ตระเตรียมความพร้อมในเรื่องเกษียณที่จะเข้ามาในอนาคต กลุ่มนี้ แนะนำให้แบ่งเงินออมมาลงทุนมากหน่อย โดยกันเงินออมให้เหลือไว้ใช้จ่ายได้ประมาณ 12 เดือน ในกรณีที่ต้องดูแลคนที่บ้านด้วย หากไม่ต้องดูแลใคร แค่ตัวเองคนเดียว อาจกันเงินออมไว้ประมาณ 8-9 เดือน ส่วนที่เหลือให้ลองดูการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ยิ่งถ้าไม่เคยลงทุนด้วยแล้ว อาจมีความกังวลอยู่บ้าง แนะนำให้ลองเริ่มลงทุนง่ายๆ ผ่านกองทุนรวม โดยแบ่งสัดส่วนเงินที่จะนำมาลงทุน
เช่น มีเงินออม 2 ล้านบาท ใช้จ่ายเงินเดือนละ 30,000 บาท ก็กันเป็นเงินใช้จ่ายหรือเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ก่อน 360,000 บาท ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 1,640,000 บาท ค่อยนำมาลงทุน โดยดูว่าเรารับความเสี่ยงได้มากน้อยขนาดไหน หากรับความเสี่ยงได้พอสมควร เพราะใจยังวัยรุ่น ก็อาจจะแบ่งประมาณครึ่งนึง คือ 8 แสนบาท ไว้ในกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มีความเสี่ยงต่ำสักหน่อย
ส่วนที่เหลืออีก 840,000 บาท ก็แบ่งเป็นกองทุนหุ้นไทย 200,000 บาท กองทุนหุ้นจีน 200,000 บาท กองทุนหุ้นทั่วโลก 200,000 บาท กองทุนหุ้นเทคโนโลยี 100,000 บาท กองทุนหุ้นสุขภาพ 100,000 บาท กองทุนทองคำ 40,000 บาท เพื่อให้เงินออมได้ทำงานผ่านกองทุนรวม ที่มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต และด้วยระยะเวลาในการลงทุนประมาณ 15-20 ปี ก็จะช่วยให้ความเสี่ยงจากการลงทุนลดลงไปได้บ้าง ส่วนรายได้ที่ได้รับเข้ามาก็อย่าลืมแบ่งมาลงทุนเพิ่มเติม ยิ่งมีรายได้ที่ต้องเสียภาษีแล้วด้วย การเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ยิ่งได้ประโยชน์มาก ซึ่งสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่ชอบได้
ส่วนคุณพ่อคุณแม่วัย 40 ที่ยังมีลูกเล็กอยู่ ไหนจะต้องเตรียมค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษ ค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ อีกมากมาย แถมยังต้องช่วยลูกคิดด้วยว่าจะเรียนต่อที่ไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ดังนั้น ในส่วนของการเตรียมตัวเกษียณจึงไม่ค่อยได้คิดกัน เพราะต้องเตรียมเรื่องค่าเรียนให้กับลูกก่อน ซึ่งเอ๋มองว่าเราสามารถแบ่งเงินออกมาได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเราก็ตั้งเป้าหมายเพื่อการศึกษาลูก และอีกส่วนนึงเราก็ตั้งเป้าหมายเกษียณของตัวเราเอง
ในส่วนของเป้าหมายเพื่อการศึกษาลูก เราน่าจะพอรู้ตัวเลขค่าใช้จ่ายจากในช่วงที่ผ่านมา และเผื่อสำหรับชั้นศึกษาที่สูงขึ้นในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาหากเราได้เตรียมให้กับเขาในแต่ละเดือนเท่าไหร่ ก็สามารถกันไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาต่อไป ส่วนเป้าหมายเกษียณ หากยังไม่เคยได้เก็บได้สะสม ลองดูว่าที่ทำงานมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมั้ย ถ้ามีแนะนำให้ใส่เงินสะสมเป็นสัดส่วนสูงสุดที่ลงทุนได้ (15%) และเพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยสามารถสะสมเป็นรายเดือน ทยอยสะสมเข้าไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้อย่างน้อยในยามที่เราเกษียณ เราก็ยังมีเงินที่สามารถดูแลตัวเองหลังเกษียณได้ค่ะ รักลูก เตรียมทุกสิ่งให้กับลูก แต่อย่าลืมเตรียมให้กับตัวเองด้วยนะคะ
นอกจากนี้ อายุที่ไม่ใช่น้อย หากจะลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวคงจะไม่ดีนัก เพราะในเรื่องสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ และเราต้องใช้สุขภาพร่างกายนี้เป็นประจำ ดังนั้น อีกหนึ่งการลงทุนที่ไม่ควรละเลย นั่นก็คือลงทุนเรื่องสุขภาพ ทั้งการออกกำลังกาย ดูแลเรื่องอาหารการกิน หากเจ็บป่วย เราจะทำอย่างไร ในกรณีที่เรายังทำงานอยู่ แน่นอนว่าเรามีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากบริษัท หรือจากประกันสังคม แต่ถ้าในอนาคตหลังจากเกษียณไปแล้ว สวัสดิการที่เราเคยได้รับคงหมดไป อย่าลืมดูแลตัวเอง เตรียมทำประกันชีวิต และประกันสุขภาพเผื่อเอาไว้ด้วย ทั้งกับตัวเองและคนที่เรารักด้วยค่ะ