ซีเอ็นบีซี รายงานว่า เรือเอเวอร์ กีฟเวน ลอยลำได้เป็นอิสระในคลองสุเอซแล้วในวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังขวางการจราจรทางน้ำมากว่า 6 วัน แต่ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ผลกระทบด้านการค้าที่หยุดชะงักทั่วโลกจะมีต่อไป โดย Douglas Kent รองประธานบริหารฝ่ายกลยุทธ์และพันธมิตร สมาคมการจัดการห่วงโซ่อุปทาน กล่าวว่า เรายินดีกับความสำเร็จในการนำเรือที่ปิดกั้นคลองสุเอซให้กลับมาลอยลำได้ แต่นี่ยังไม่ใช่ตอนจบของเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งที่จะยังเกิดขึ้นต่อไป คือ ผลที่เกิดขึ้นกับสินค้าที่ยังไม่ได้ส่งออกจากท่าเรือ และกลไกการจัดส่งอื่นๆ ขณะเดียวกันยังมีเรื่องความโกลาหลและการหยุดชะงักที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
แม้การจราจรทางน้ำในคลองสุเอซจะกลับเป็นปกติ แต่ผลจากการหยุดชะงักหลายวันที่ผ่านมาจะยังมีอยู่ เนื่องจาก 12% ของการค้าโลก ผ่านคลองสุเอซนี้ ด้วยการขนส่งทางเรือ เช่น เรือเอเวอร์ กีฟเวน ซึ่งรองรับตู้สินค้าได้ 20,000 ตู้ โดย Lloyd’s List คาดว่า มีสินค้าที่ขนส่งผ่านคลองนี้เฉลี่ยวันละ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง
Stephen Flynn ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย นอร์ธอีสเทิร์น กล่าวว่า การหยุดชะงักที่เกิดขึ้นในช่วงที่เรือขวางคลอง ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์ จะส่งผลกระทบต่อไป โดยคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 60 วัน ก่อนที่ทุกอย่างจะคลี่คลายจนกลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่ระดับของการหยุดชะงักที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ลดลงทุกๆ 24 ชั่วโมง โดยผลที่ตามมา ได้แก่ ความแออัดที่ท่าเรือ การที่เรือไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมกับแผนการเดินทางครั้งต่อไป และสิ่งสำคัญ คือกระทบห่วงโซ่อุปทานที่เผชิญปัญหาจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อยู่แล้ว ในช่วงที่โควิด-19 ทำให้การซื้อขายเฟื่องฟู
Flynn กล่าวว่า นี่เป็นความท้าทายต่อระบบความทันเวลา เพราะสายประกอบจะดำเนินการต่อไม่ได้ถ้าส่วนประกอบมาไม่ถึง
ทั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพและต้นทุนสินค้าที่ต่ำ เรือต้องเป็นลำใหญ่และใหญ่มาก ซึ่งไม่ใช่ท่าเรือทุกท่าที่รองรับเรือขนาดเอเวอร์ กีฟเวนได้ เมื่อเรือแล่นจากจีนถึงรอตเทอร์ดาม ตู้คอนเทนเนอร์จะถูกถ่ายไปยังเรือขนาดเล็กกว่า เพื่อแล่นไปยังส่วนที่เหลือของยุโรป และจุดหมายอื่น เช่น สหรัฐฯ หมายความว่าท่าเรือขนาดเล็กอาจไม่สามารถดูดซับปัญหาตารางการขนส่งที่เกิดขึ้นจากการจราจรติดขัดในคลองสุเอซได้