การก่อหนี้สูงอาจกระทบความเชื่อมั่นในดอลลาร์

การก่อหนี้สูงอาจกระทบความเชื่อมั่นในดอลลาร์

โดย…ทนง ขันทอง

Wolf Richter แห่ง Wolf Street รายงานว่า ในไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟ รายงานว่า สัดส่วนของเงินดอลลาร์สหรัฐในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 59% ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปีเลยทีเดียว หรือตั้งแต่ปี 1995 เงินดอลลาร์สหรัฐในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ในรูปของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตราสารหนี้ของบริษัทอเมริกัน ตราสารการเงินอิงทรัพย์สินอสังหาฯ ทั้งส่วนของสถาบันการเงินของรัฐและของธนาคารพาณิชย์ที่ถือโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆ

ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา สัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศนี้ ลดลง 7% เต็มๆ จาก 66% ลงมาเหลือ 59% ถ้าหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปแบบนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศที่ถือโดยธนาคารกลางจะลดลงต่ำกว่า 50% ในอีก 10 ปีข้างหน้า

สถานภาพการเป็นเงินสกุลหลักของโลกของดอลลาร์สหรัฐทำให้สหรัฐฯ สามารถดำเนินนโยบายการคลังที่ขาดดุล หรือมีการก่อหนี้ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี

นอกจากนี้ บริษัทอเมริกันมีการย้ายฐานผลิตไปผลิตในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือเม็กซิโก โดยคาดหวังว่าประเทศต่างๆ จะถือครองหนี้ในรูปดอลลาร์สหรัฐ แต่ดูเหมือนว่าธนาคารกลางเริ่มรู้สึกไม่มั่นใจ จึงต้องการกระจายความเสี่ยงของการถือครองเงินดอลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศออกไป

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนในทุนสำรองระหว่างประเทศที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ถือครองอยู่ที่ 70% แต่หลังจากมีการสร้างเงินยูโรขึ้นมา โดยการรวมตัวกันของเงินสกุลต่างๆ ของยุโรป ทำให้สัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงไป 11% เต็มๆ ส่วนเงินยูโรในทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 19.5% ถึง 20.6%

ส่วนเงินหยวนของจีนยังคงไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีสัดส่วนในทุนสำรองระหว่างประเทศเพียง 2.25% ถึงแม้ว่าจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีการค้าที่มีอิทธิพลสูงต่อเศรษฐกิจโลก

ลอร่า คูเป้อร์ นักยุทธศาสตร์ด้านแมคโครของบลูมเบิร์ก ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เงินดอลลาร์สหรัฐกำลังมองไปข้างหน้ากับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังเติบโตด้วยแรงอัดเต็มเหนี่ยวหลังวิกฤติโควิดในปีที่ผ่านมา แต่การใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับ 20% ของจีดีพี รวมทั้งการขาดดุลงบประมาณและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเทียบเท่า 19% ของจีดีพี จะมาด้วยราคาที่ต้องจ่ายต่อไป นี่ยังไม่นับการใช้จ่ายจากงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นของของโจ ไบเดนอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในระยะสั้น คูเปอร์ บอกว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงานนอกภาคเกษตร การฟื้นตัวของอุปสงค์ที่คงค้าง แต่จะมีแรงกดดันในเรื่องของเงินเฟ้อ ท้ายที่สุดแล้ว ราคาที่ต้องจ่ายจากการใช้จ่ายเกินตัว ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลงบประมาณ เงินออมที่ลดลงของภาคครัวเรือน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้การขาดดุลเพิ่มขึ้น จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง และอาจกระทบความเชื่อมั่นสถานภาพการเป็นเงินสกุลหลักโลกของดอลลาร์สหรัฐ