โดย…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
“ทำให้ครอบครัวไทย มีความมั่นคงทางการเงิน” เป็นพันธกิจสำคัญที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง มุ่งมั่นดำเนินการมาโดยตลอด
จะเห็นได้จากการออกผลิตภัณฑ์ที่พร้อมให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุนในระยะยาว เพื่อสนับสนุนให้คนไทยตระหนักถึงการลงทุนในระยะยาว อันเป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่ความมั่นคงทางการเงิน
ขณะเดียวกันอีกแนวทางที่เราทำควบคู่กันไปอย่างไม่หยุดหย่อน คือ การมอบหมายให้ทีม BF Knowledge Center ของกองทุนบัวหลวง ผลิตเนื้อหา ทั้งในรูปแบบบทความ คลิปวิดีโอ พอดคาสต์ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมอบรมและการให้ความรู้ผ่านรายการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ด้านวางแผนทางการเงินให้ลูกค้าและนักลงทุนทั่วไป
ทั้งนี้ มีตัวเลขที่น่าสนใจที่อยากจะหยิบยกมานำเสนอ ได้แก่ ตัวเลขทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนระยะยาว ที่มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
จากข้อมูลของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 กองทุนบัวหลวง บริหารเงินลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การลงทุนระยะยาว ที่มาพร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากถึง 197,016.91 ล้านบาท จากภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมกองทุนเหล่านี้มีทรัพย์สินสุทธิรวมกัน 744,961.98 ล้านบาท กองทุนบัวหลวงนับเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมจัดการกองทุนรวมด้านการบริหารเงินลงทุนระยะยาว ที่มีเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางภาษี เรียกว่า เป็น tax saving house เลยก็ว่าได้
ตัวเลขนี้ครอบคลุมถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่ปัจจุบันมีสถานะเป็นกองทุนที่มีเงื่อนไขลงทุนไปแล้ว ยังประหยัดภาษีได้ด้วย รวมถึงกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่แม้ปัจจุบันจะไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว แต่กองทุนบัวหลวง ก็ยังเดินหน้าบริหารเงินลงทุนที่อยู่ในกองทุนเหล่านี้ต่อไป
สำหรับกองทุน RMF นั้น จากตัวเลข ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2564 กองทุนบัวหลวง บริหารกองทุน RMF รวมทั้งสิ้น 92,213.26 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขจากกองทุน RMF ทั้งหมด 19 กองทุนเดิม ยังไม่นับรวม 2 กองทุนน้องใหม่ล่าสุด ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลธีมเมติกออพพอร์ทูนิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (B-GTORMF) และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นฟิวเจอร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (B-FUTURERMF) ที่เสนอขายครั้งแรก (IPO) ไประหว่างวันที่ 21-27 เม.ย. ที่ผ่านมา
ตัวเลขการบริหารกองทุน RMF นี้ ถือว่า มีสัดส่วนสูงที่สุดในอุตสาหกรรมกองทุนรวม หรือคิดเป็น 26.2% ของทรัพย์สินสุทธิกองทุน RMF ทั้งหมดในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 351,156.97 ล้านบาท
ในส่วนของกองทุน SSF กองทุนบัวหลวง มีให้เลือกทั้งหมด 4 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3,623.63 ล้านบาท ซึ่งก็คิดเป็นประมาณ 14.9% ของทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ที่ 24,317.81 ล้านบาท ส่วนกองทุน LTF ที่ไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้วในปัจจุบัน แต่ยังมีเงินลงทุนอยู่ กองทุนบัวหลวง มีทั้งสิ้น 4 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 101,180.02 ล้านบาท หรือ 27.38% ของทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 369,487.20 ล้านบาท
จากตัวเลขทั้งหมดนี้ เป็นบทพิสูจน์อันดี ถึงความตั้งใจอันดีของกองทุนบัวหลวงในการส่งเสริมการออมและการลงทุนระยะยาว รวมทั้งความไว้วางใจที่นักลงทุนมีให้ ซึ่งหลังจากนี้กองทุนบัวหลวง จะยังคงมุ่งมั่นกับภารกิจนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น การมองหาผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนระยะยาวที่จะมาเป็นทางเลือกให้นักลงทุนเพิ่มเติม รวมถึงการให้ความรู้ เพื่อให้นักลงทุนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการเงิน การออมเงินเพื่อการใช้ชีวิตที่ดี ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า
ส่วนใครที่สนใจลงทุนระยะยาวพร้อมประหยัดภาษีกับกองทุนบัวหลวง สามารถเข้ามาลงทุนได้แล้วกับกองทุน RMF และ SSF ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 500 บาทเท่านั้น
ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า ข้อมูลสำคัญ นโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน
ความเสี่ยง และสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุในคู่มือการลงทุน RMF หรือ SSF ก่อนการตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน