สำหรับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯนั้น จากข้อมูลของ Global Trade Atlas สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกของไทยที่สำคัญเป็นอันดับสองรองจากหรือคิดเป็น 11.2% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยโดยมูลค่าส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯปี 2017 อยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ สินค้าส่วนใหญ่ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯหลักๆเป็นสินค้าที่มีความเชื่องโยงกับการลงทุนทั้งจากการลงทุนทางตรง (FDI) และการรับจ้างผลิต (OEM) รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในกลุ่มห่วงโซ่อุปทาน เช่นสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อุตสาหกรรมการเกษตร พลาสติก และเครื่องนุ่งห่ม
ประเทศไทยมีความพยายามที่จะเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2002 ภายในใต้กรอบการเจรจา Trade and Investment Framework Agreement between the United States and the Kingdom of Thailand: TIFA) แต่การเจรจา TIFA ไม่มีความคืบหน้าตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมาเนื่องด้วยประเทศไทยประกาศยุบสภาในเวลานั้น
ต่อมาไทยได้แสดงความสนใจที่จะได้แลกเปลี่ยนความเห็นพร้อมทั้งหารือถึงความเป็นไปได้ที่ไทยจะได้เป็นส่วนหนึ่งของ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP)
อย่างไรก็ดีการร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยและสหรัฐได้พลิกโฉมในยุคของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งไม่นานประธานาธิบดีได้ลงนามในคำสั่งผู้บริหาร (Executive Order) โดยได้
1. สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ (U.S. Commerce Department) และสำนักงานคณะ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative) ร่วมกันจัดทำรายงานเชิงลึกตรวจสอบข้อมูลการค้าระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าระหว่างประเทศในช่วงปีที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 16 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี เม็กซิโก ไอร์แลนด์ เวียดนาม อิตาลี เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินเดีย ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย แคนาดา และ ไทย โดยกำหนดให้ส่งรายงานฉบับดังกล่าวต่อฝ่ายบริหารภายใน 90 วันนับตั้งแต่ที่มีการลงนามในคำสั่ง นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดให้ทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการทั้งภายการผลิตและบริการรวมถึงแรงงาน และผู้บริโภคด้วย
2. สั่งการให้หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ พิจารณาหากลยุทธ์และเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อเรียกเก็บเงินภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping Countervailing Duty: AD/CVD) ที่ประเทศคู่ค้ายังค้างชำระอยู่ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ผู้นำเข้ารายใหม่หรือผู้ที่เคยละเมิดทางการค้า (Abuse Trade Practice) ต้องวางเงินมัดจำสินค้าก่อนที่สินค้าจะเดินทางมาถึงท่าเรือปลายทางในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ยอดภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่สหรัฐฯ ยังไม่สามารถจัดเก็บตั้งแต่ปี2001 จนถึงปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท)
กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้รับมือโดยการหารือกับผู้ประกอบการ ซึ่งตามประกาศของสหรัฐ Executive Order จะกระทบกับ ผู้นำเข้าสินค้าที่สหรัฐเคยใช้ AD/CVD กับไทยประมาณ 7 รายการ (ตารางประกอบ) และสินค้าที่สหรัฐฯใช้ มาตรการ AD/CVD กับประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มที่ประเทศไทยมีการส่งออกด้วย อาทิ ยางรถยนต์, แผงโซลาร์เซลล์, เหล็กและผลิตภัณฑ์, กุ้งแช่แข็ง เป็นต้น โดยทางกระทรวงพาณิชย์ขอให้ผู้ส่งออกไทยตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นผู้นำเข้าสหรัฐฯ อย่างระมัดระวัง เพื่อมิให้ถูกเรียกวางเงินประกันเพิ่ม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะเรียกร้องให้ผู้ส่งออกไทยร่วม รับภาระค่าใช้จ่ายนั้นกับผู้นำเข้าสหรัฐฯด้วย เท่ากับเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ส่งออกไทย อีกทั้งการขอคืนเงินประกันจะใช้เวลานาน
สิทธิ GSP จากสหรัฐฯ ยังสุญญากาศ
สำหรับ โครงการ GSP หรือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สหรัฐฯให้กับประเทศผู้ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ นั้น
ล่าสุดของสหรัฐฯ ได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2017 และขณะนี้สหรัฐฯ ยังไม่ได้ประกาศต่ออายุโครงการให้กับประเทศใด รวมถึงประเทศไทย ทำให้การใช้สิทธิพิเศษGSP ขาดความต่อเนื่อง
โครงการ GSP สหรัฐฯ เป็นระบบสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ผู้ประกอบการไทยคุ้นเคยและสร้างประโยชน์แก่การส่งออกของไทยมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ปี 1976 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สินค้าจากประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดให้สามารถเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ได้มากขึ้น โดยจะยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ หากสินค้าอยู่ในข่ายที่ได้รับสิทธิฯ
ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรก ของปี 2017 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากไทยภายใต้โครงการGSP คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,472 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 10% ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ โดยที่ไทยได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯราว 3,400 รายการ ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและเกษตร
นอกเหนือจากการใช้คำสั่งประธานาธิบดีรวมถึงการยกเลิกสิทธิ GSP แล้ว นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยังได้มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า สินค้าประเภทเครื่องซักผ้า/Solar Cell และเหล็ก/อลูมิเนียมรายละเอียดดังตาราง มีผลให้ระดับราคาของสินค้าในกลุ่มดังกล่าวปรับขึ้นไปอีกราว 10-25%
สำหรับมูลค่าการส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าทั้งสี่ประเภทอยู่ที่ราว 2.0 พันล้านบาทหรือคิดเป็น 18.7% ของการส่งออกรวมของสินค้าทั้งสี่ประเภท