- วันที่ 4 มี.ค. 2018: อดีตสายลับรัสเซียที่กลายมาเป็นสายลับสองหน้าให้กับรัฐบาลสหราชอาณาจักรในช่วงปี 1990s และลูกสาวของเขา ถูกทำร้ายด้วยอาวุธเคมีทำลายระบบประสาท Novichok ภายในสหราชอาณาจักร ซึ่งสารดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นโดยสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกถึงความเป็นรัสเซียสูง หลังจากนั้นรัฐบาลสหราชอาณาจักรเปิดโอกาสให้ทางการมอสโกแถลงการณ์ชี้แจงภายในเส้นตาย 13 มี.ค. ซึ่งถึงแม้ว่ารัสเซียจะออกโรงปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้อง แต่ก็มีการใช้ถ้อยคำที่มีความเสียดสีเย้ยหยัน และยังคงไม่ให้คำอธิบายรายละเอียดใดๆต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
- สหราชอาณาจักร: วันที่ 14 มี.ค. 2018 นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร Theresa May ประกาศขับไล่นักการทูตรัสเซียถึง 23 คนออกจากประเทศ และเตรียมระงับการเคลื่อนไหวสินทรัพย์ภาครัฐของรัสเซียที่เป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศ เพื่อทำลายเครือข่ายข่าวกรองรัสเซียภายในสหราชอาณาจักร
- นาย Boris Johnson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการใช้อาวุธเคมีโจมตีภายในยุโรปเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และชักชวนให้ประเทศอื่นๆร่วมกันตอบโต้ โดยที่ผ่านมา ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐฯ ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลรัสเซียแล้ว
- ฝรั่งเศส: Emmanuel Macron ประธาณาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่า จะประกาศมาตรการตอบโต้รัสเซียออกมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝรั่งเศสย้ำว่าจะไม่ยอมรับแคว้นไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
- เยอรมนี: Von der Leyen รัฐมนตรีความมั่นคงเยอรมนี กล่าวว่า จะมีการพูดคุยกันถึงผลที่จะตามมาสำหรับรัสเซียอย่างแน่นอน ภายหลังผลพิสูจน์จากสหประชาชาติ (UN) เสร็จสิ้นลง โดยโยงไปถึงการโจมตีด้วยอาวุธเคมีในซีเรียก่อนหน้านี้ด้วย
- สหรัฐฯ: Nikki Haley ทูตประจำ UN จากสหรัฐฯ กล่าวว่าสหรัฐฯจะยืนข้างกับสหราชอาณาจักรในการเผชิญหน้ากับรัสเซียครั้งนี้ ทั้งนี้ ในวันที่ 16 มี.ค. สหรัฐฯเองก็ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรชุดใหญ่ต่อบุคคลและองค์กรรัสเซียรวม 24 รายชื่อ เพื่อตอบโต้การที่มอสโกเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 เรียบร้อยแล้ว
- รัสเซีย: ทางมอสโกเองยังคงปฏิเสธความเกี่ยวข้อง และกล่าวว่าฝ่ายอังกฤษด่วนสรุปเกินไป เนื่องจากเหตุการณ์เพิ่งผ่านไปได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น และได้มีประกาศขับไล่นักการทูตสหราชอาณาจักร 23 คนออกจากประเทศ พร้อมทั้งสั่งการปิดสถานกงสุลในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อเป็นการตอบโต้ ทั้งนี้ รัสเซียมีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 18 มี.ค. และอย่างที่คาดกันไว้ Vladimir Putin สามารถรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีไว้ได้ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
- การเมืองในยุโรป: ประเด็นการเมืองที่มีความเสี่ยงในยุโรปหลายเหตุการณ์ได้ผ่านไปแล้ว เช่น การเลือกตั้งฝรั่งเศส การเลือกตั้งเยอรมนีที่เพิ่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลไปได้ในวันที่ 14 มี.ค. ส่วนการเลือกตั้งอิตาลีจบลงด้วยสภาวะสภาแขวน อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นเสถียรภาพทางการเมืองในภาพรวมจากความชัดเจนที่เกิดขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจภูมิภาคก็กำลังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งเช่นกัน
- ตลาดตอบสนอง ตลาดยุโรปยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากนัก แต่สำหรับทางรัสเซียแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาราว 2% ระหว่างที่ค่าเงินรูเบิลอ่อนตัวลงต่อ 0.7%