โดย…มทินา วัชรวราทร
กองทุนบัวหลวง
วันนี้ กองทุนบัวหลวงอยากชวนท่านผู้อ่านมากางแผนที่โลก เพื่อทำความรู้จักแหล่งผลิตรถยนต์ EV ทั้งสายการผลิต เพื่อให้เรารู้จักขั้นตอนการผลิตรถยนต์อีวีมากขึ้น และน่าจะทำให้เรารู้ว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่ ไปอยู่ในประเทศไหน และประเทศไหนจะได้ประโยชน์มากที่สุด จากการที่ทั่วโลกหันมาใช้รถยนต์อีวี!!
Supply Chain ของรถยนต์อีวีในภาพใหญ่ แบ่งเป็นสามส่วนหลักๆ คือ ส่วนแรก คือ พื้นที่ที่มีเหมืองแร่ ที่มีแร่ธาตุ ลิเธียม โคบอลต์ นิกเกิ้ล และแมงกานีส ส่วนที่สอง คือ Component and Module production and Assembly การนำแร่เหล่านี้มาผลิตเป็น Cathode, Anode, Seperator และ Electrolytic Foil ขั้นตอนต่อมา คือ นำแบตเตอรี่เหล่านี้มาผลิต ตามความต้องการของบริษัทรถยนต์ และสุดท้ายที่ขายให้ End Users คือ เจ้าของค่าย ผู้ผลิตรถยนต์ หรือที่เรียกว่า OEM เช่น Tesla ที่ทุกท่านคุ้นเคย อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ความสนใจ และเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าว่า จะไปต่อได้มากแค่ไหน ก็น่าจะเป็นแบตเตอรี่ วันนี้ เราจึงอยากพาผู้อ่านมารู้จักผู้ผลิตแบตเตอรี่ สำหรับรถ EV เพื่อให้ท่านได้เข้าใจ EV ทั้ง Supply Chain
สายพานการผลิตรถยนต์อีวี เริ่มต้นด้วยประเทศที่มีเหมือง หรือทรัพยากรธรรมชาติ ลิเธียม โคบอลต์ นิกเกิ้ล และแมงกานีส ซึ่งจะเป็นส่วนประกอบในแบตเตอรี่ โดยลิเธียมจะหาได้ในประเทศ จีน เช่น บริษัท Tianqi Lithium และ Ganfeng Lithium ประเทศสหรัฐฯ เช่น Albermarle, FMC ส่วนชิลี อย่างบริษัท SQM สำหรับนิกเกิ้ล จะมีอยู่ในประเทศบราซิล รัสเซีย และออสเตรเลีย โคบอลต์ อยู่ใน จีนและสวิสเซอรแลนด์ โดยบริษัทที่รู้จักกันดีชื่อ Glencore ประเทศที่มีแมงกานีส จะอยู่ในฝรั่งเศสและอังกฤษ อย่างไรก็ดี ที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าเหมืองแร่เหล่านี้จะค่อนข้างกระจายไปในประเทศต่างๆ ไม่ได้กระจุกตัวในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่บริษัทที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับเหมืองแร่ อยู่ในเอเชียทั้งหมด อุปกรณ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะส่งมาจากจีนและเกาหลี เป็นที่น่าสนใจว่า ทั้งสองประเทศนี้ จะได้ประโยชน์ในการขายอุปกรณ์ทำเหมือง ไม่ว่าแร่ธาตุเหล่านี้ จะถูกค้นพบในประเทศใดก็ตาม
หลังจากขุดเหมืองแล้ว ขั้นตอนการผลิตต่อไป ก็คือ การนำแร่เหล่านี้มาผลิตส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ประกอบไปด้วย 4 ส่วน 1. ขั้วไฟฟ้า ประกอบไปด้วย ขั้วแคโทด (Cathode) และ แอโนด (Anode) 2. แผ่นกั้นในแบตเตอรี่ หรือแผ่นแยก (Seperator) และ 3. ตัวนำประจุ (Electrolytic Foil) โดยบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้ เกือบทั้งหมดอยู่ในเอเชีย ส่วนใหญ่อยู่ในจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จะมีเพียงสามบริษัทที่อยู่ในยุโรป นั่นคือ Umicore, BASF, Johnson Matthey ซึ่งขายให้ผู้ผลิตรถบัสไฟฟ้าในจีน และมีเพียงไม่กี่บริษัทที่อยู่ในสหรัฐฯ เรียกได้ว่าขั้นตอนนี้ จีนและเอเชีย สามารถเป็นผู้ผลิตได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีแบบใดก็ตาม
มาถึงขั้นตอนที่สำคัญ และเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า นั่นคือ ความสามารถในการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งผู้ผลิตแบตเตอรี่ในแต่ละบริษัท ก็มีสูตรเฉพาะในการนำขั้วแคโทด และแอโนด มาผสมในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ซึ่งจะนำไปสู่ต้นทุนและสมรรถนะของรถที่ต่างกัน ในภาพอุตสาหกรรม ยอดการขายแบตเตอรี่ทั่วโลกมีทั้งหมด 142,842 กิโลวัตต์อาว ผู้ผลิตที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดอยู่ในประเทศจีน ซึ่งมียอดขาย 43% ของการผลิตแบตเตอรี่ทั้งหมด รองลงมาคือ ยุโรป มีส่วนแบ่งเพียง 36% แต่ในปีที่ผ่านมา ก็สามารถเพิ่มยอดขายแบตเตอรี่ให้เติบโตถึง 210% จากปีที่แล้ว
สำหรับบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลก จะเห็นว่าผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด สิบอันดับแรก เป็นบริษัทที่อยู่ในเอเชียทั้งหมด โดยเป็นผู้ผลิตมาจากจีนถึงห้าบริษัท ที่เหลือเป็นบริษัทของเกาหลี และญี่ปุ่น โดยสำหรับประเทศจีน นอกจาก จะมี CATL ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่เจ้าใหญ่ที่สุดของจีน ก็ยังมีเจ้าใหญ่อีกสี่เจ้า คือ BYD (1211HK), EVE (300014), Guoxuan Hitech (002074 CH), Sunwoda (300207 CH) เรียกได้ว่า หากเราเห็นว่า อุตสาหกรรมชิปนั้นต้องพึ่งพาประเทศไต้หวันขนาดไหน และจะเกิดปัญหาขนาดไหนเมื่อมีปัญหาชิปขาดแคลน เราเชื่อว่า อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลก ก็คงให้ภาพที่ไม่ต่างกัน การผลิตแบตเตอรี่รถอีวี ต้องพึ่งพาจีนและเอเชียอยู่มาก
ภายในเอเชีย นอกจากจีนแล้ว เรายังมีบริษัทผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่จากเกาหลี นั่นคือ บริษัท LG Chem และบริษัท Panasonic จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งลูกค้าของ LG Chem จะเป็น Volkswagen และ Renault ซึ่งเจ้าใหญ่ๆ เช่น TESLA ก็ใช้แบตเตอรี่ 91% ที่ Panasonic ผลิตได้ และใช้ 17% ที่ CATL ผลิตได้ มาถึงขั้นนี้ก็จะเห็นว่า ไม่ว่าค่ายรถยนต์ไหนจะอยู่ในประเทศไหน ก็ต้องพึ่งพาบริษัทแบตเตอรี่ที่ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย
มาถึงขั้นตอนสุดท้าย ก็คือ ผู้ผลิตรถยนต์ EV
ในปี 2020 ทั่วโลกมีการขายรถยนต์อีวี (รวม Plug-in Hybrid, Battery EV) ไปแล้ว 3.2 ล้านคัน แบ่งเป็นรถที่ผลิตจาก ยุโรป 1.4 ล้านคัน ประเทศจีน 1.32 ล้านคัน และจากสหรัฐ 321,884 คัน รถอีวีที่ขายทั่วโลกส่วนใหญ่จะเป็นรถ Battery EV ถึง 2.2 ล้านคัน (ข้อมูลในเดือนธันวาคมปี 2020)
โดยเจ้าของค่ายรถยนต์ หรือที่เราเรียกว่า OEM สิบอันดับแรก อยู่ในสหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยในปี 2020 อันดับแรกก็คือ เทสลjา ที่เรารู้จักกันดี ขายรถไป 501,991 คัน เติบโต 45% จากปีที่แล้ว อันดับที่สอง คือ VW Group จากยุโรป ที่ผลิตได้ 499,550 คัน และเติบโต 270% จากปีที่แล้ว นอกจากนั้นจะเป็น GM, Daimler AG, BMQ Group โดยห้าอันดับแรกรวมกัน มีส่วนแบ่งตลาดรถ EV ประมาณ 50% ของตลาดทั้งหมด จะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าผู้ผลิตรถยนต์ สิบอันดับแรก จะอยู่ในสหรัฐฯและยุโรป แต่ว่าถ้าพิจารณา Supply Chain ของรถอีวีทั้งหมด ประเทศสหรัฐ สามารถกินส่วนแบ่งได้เพียงขั้นตอนที่เป็น OEM แต่ในการผลิตแบตเตอรี่ยังต้องพึ่งพาเอเชียอยู่มาก แต่หากมาดูประเทศจีน จะเห็นว่า จีนสามารถ Capture โอกาสของอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี เรียกได้ว่า สามารถดึงรายได้มาจากทั้งสายการผลิต สร้างรายได้ให้ประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำของรถยนต์อีวี
ในอนาคตข้างหน้า คาดการณ์ว่า ส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์อีวีเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั้งหมด จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในปัจจุบบัน ในท้องถนนมีรถยนต์อีวีเพียง 6% ในปี 2020 มีแต่การคาดการณ์ว่า จะเพิ่มมาเป็น 21% ในปี 2025 และ 61% ในปี 2040 เรียกได้ว่าเกินครึ่งของรถที่เราเห็นในท้องถนนทั่วโลกจะเป็นรถยนต์อีวี ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การคาดการณ์เป็นจริงได้คือ 1. เทคโนโลยีในการผลิตแบตเตอรี่ 2. การสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการให้ Subsidy แก่ผู้ผลิต หรือผู้บริโภค 3. ความเอาจริงเอาจังในแต่ละประเทศในการผลักดันไม่ให้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และสุดท้าย ปริมาณเงินทุนที่หลั่งไหลเข้าไปในอุตสาหกรรมนี้ แต่เหนือสิ่งใด เทคโนโลยีและต้นทุน ในการผลิตแบตเตอรี่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เพราะแบตเตอรี่จะกำหนด ทั้งระยะทางในการขับขี่ ต้นทุน ความปลอดภัย สมรรถนะของรถ
ดังนั้น หากพิจารณา Supply Chain ของรถยนต์อีวีทั้งหมด จะเห็นว่า ภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน และเกาหลีใต้ นั้น มีทั้งเจ้าของค่ายรถยนต์ การผลิตแบตเตอรี่ และมีจำนวนบริษัทที่สามารถ Capture โอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงจากรถยนต์สันดาบเป็นรถยนต์อีวี ได้มากที่สุด ท่านผู้อ่านก็คงจะทราบแล้วว่า เม็ดเงินที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ทั้งอุตสาหกรรม ประเทศไหนน่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด