โดย…ทนง ขันทอง
ในแวดวงบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการลงทุนแล้ว แบล็คร็อค (BlackRock Inc.) ถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สินภายใต้การบริหารมากถึง 9.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564
คู่แข่งที่สำคัญของแบล็คร็อค คือ แวนการ์ด กรุ๊ป (Vanguard Group) สเตทสตรีท คอร์ป (State Street Corp) และ ที. โร ไพรซ์ กรุ๊ป (T. Rowe Price Group)
แบล็คร็อค เป็นบริษัทอเมริกันก่อตั้งโดยนายลาร์รี่ ฟิงค์และเพื่อนในปีค.ศ. 1988 ต่อมาได้จดทะเบียนในตลาดหุ้น โดยมีมูลค่าตลาดรวมในปัจจุบันอยู่ที่ 135,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบล็คร็อคทำธุรกิจการให้บริการด้านการลงทุนและเทคโนโลยี ให้ลูกค้าทั้งที่เป็นสถาบัน และลูกค้ารายย่อยที่อยู่ใน 100 ประเทศทั่วโลก โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก และมีสำนักงาน 60 สาขา
แบล็คร็อค ให้บริการกองทุนประเภทต่างๆ รวมท้ังพอร์ตการลงทุนผ่านช่องทางที่หลายหลาก เช่น หุ้น ตราสารตลาดเงิน และตราสารหนี้ ลูกค้าของแบล็คร็อคส่วนมากจะให้ความสนใจกับกองทุนรวม หรือการลงทุนสำหรับการเกษียณ รวมทั้งกองทุนรวมดัชนี หรือ ETF (exchange traded funds)
รายได้หลักของแบล็คร็อคจะมาจากการให้บริการที่ปรึกษาด้านการลงทุน ค่าดูแลการบริหาร การให้ยืมหุ้น การให้บริการด้านเทคโนโลยี รายได้จากการทำการตลาดและขายหุ้น
ธุรกิจที่โดดเด่นที่สุดของแบล็คร็อคคือ ไอแชร์ (iShares) ซึ่งเป็นการรวมเอากองทุนรวมดัชนี หรือ ETF ภายใต้การบริหารของแบล็คร็อค
แบล็คร็อคซื้อกิจการนี้ รวมท้ังแบรนด์จากบาร์คเลย์ (Barclays)ในปี ค.ศ. 2009 โดยไอแชร์ อีทีเอฟตัวแรกชื่อว่าWorld Equity Benchmark Shares ต่อมาภายหลังถูกรีแบรนด์ใหม่
กองทุนไอแชร์ส่วนมากจะอ้างอิงดัชนีตลาดบอนด์หรือตลาดหุ้น แม้ว่าบางกองจะมีการบริหารแบบเชิงรุก กองทุนไอแชร์มีการจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างๆ เช่น ตลาดหุ้นลอนดอน ตลาดหุ้นอเมริกัน ตลาดหุ้นนิวยอร์ค ตลาดหุ้น BATS ตลาดหุ้นฮ่องกง ตลาดหุ้นเม็กซิโก ตลาดหุ้นโตรอนโต ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ตลาดหุ้นบราซิล รวมท้ังตลาดหุ้นอื่นๆ ในยุโรปและเอเชีย
ไอแชร์ เป็นผู้ออก ETF ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาและในโลก โดยมีประมาณ 800 กองทุน ETF และมีขนาดรวมท้ังหมด 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้การบริหารของแบล็คร็อค
จุดแข็งอีกด้านหนึ่งของแบล็คร็อค คือ แบล็คร็อคโซลูชัน หรือ หน่วยบริหารความเสี่ยง ที่มีระบบเครือข่ายที่มีชื่อว่าอะลาดิน (Aladdin) สามารถดูแลความเสี่ยงของทรัพย์สิน หนี้สิน หนี้ และการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ให้ลูกค้าได้ครอบคลุมทั่วทุกตลาดทั่วโลก
ในปี ค.ศ.2013 อะลาดินดูแลความเสี่ยงให้ทรัพย์สินที่มีขนาดรวมกัน 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมท้ังทรัพย์สินภายใต้การบริหารของแบล็คร็อคเอง 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเวลานั้น ซึ่งเทียบเท่า 7% ของมูลค่าของทรัพย์สินทางการเงินของทั้งโลก โดยระบบอะลาดินดูแลความเสี่ยงให้พอร์ตการลงทุน 30,000 กอง
ในปี ค.ศ.2020 ระบบซอฟต์แวร์ที่ล้ำยุคของอะลาดินดูแลความเสี่ยงให้ทรัพย์สินท้ังหมด 21.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีลูกค้าที่สำคัญ อาทิ ธนาคารกลางของสหรัฐ ฯ และธนาคารกลางของยุโรป
โปรไฟล์ที่มาแรง และขนาดที่ใหญ่ขนาดนี้ทำให้บางคนเกรงว่าแบล็คร็อคอาจจะมีอำนาจเหนือตลาด แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคให้แบล็คร็อคเดินหน้าเป็นบริษัทจัดการลงทุนที่สามารถดึงเอาลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ได้ให้แบล็คร็อค ช่วยเป็นที่ปรึกษาในการซื้อหุ้นและพันธบัตรผ่านการทำ QE หรือการดำเนินนโยบายการเงินเชิงปริมาณ (Quantitative Easing)