BF Economic Research
ประเทศจีน: ความท้าทายด้านโครงสร้างประชากร และนัยในเชิงการลงทุน
จีนเคยเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากการปันผลทางประชากร (Demographic Dividend) ในช่วงปี 1980-1995 แต่ในขณะนี้ ข้อได้เปรียบเชิงประชากรนั้นเริ่มจะหมดไป จากพลวัตประชากร (Demographic Dynamics) ที่ถูกกระทบสืบเนื่องจากนโยบายลูกคนเดียวของประเทศในทศวรรษ 1980s เป็นผลส่งต่อไปยัง นัยทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เพราะการเพิ่มของประชากรมีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่สัดส่วนของผู้สูงอายุปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สัดส่วนของประชากรในจีนกลับมาเป็นประเด็นที่ได้รับการอภิปรายอย่างกว้างขวาง จากที่รัฐบาลจีนเพิ่งจะได้ประกาศสำมะโนประชากรครบรอบทศวรรษ (Decennial Census) เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยสำมะโนประชากรจีนนั้นจะจัดทำทุกๆ 10 ปี จึงมีความสำคัญต่อการวางแผนทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต สำมะโนประชากรแห่งชาติในรอบนี้เป็นการจัดทำครั้งที่ 7 ของจีนเป็นการปิดรอบการสำรวจ ณ เดือน ธ.ค. 2020 และเผยแพร่ในเดือนพ.ค. 2021
ประเด็นสำคัญของการสำรวจสำมะโนประชากรในรอบ 10 ปีนี้มีดังนี้
- ในปี 2020 จีนมีประชากรเพิ่มขึ้น 5.38% สู่ 1,412 ล้านคน จาก 1,340 ล้านคนเมื่อปี 2010 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตต่อปีที่ 0.53% สะท้อนว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีลดลง 0.04 % เมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนที่โตเฉลี่ย 0.57% ต่อปี และเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่ได้เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลสำมะโนประชากรในปี 1953
2. ในปี 2020 มีทารกเกิดในประเทศจีนทั้งสิ้น 12 ล้านคนเป็นการลดลง 4 ปีติดต่อกัน โดยในปี 2019 มีทารกเกิด 14.65 ล้านคน ทั้งนี้อัตราการเกิดสูงสุดอยู่ในช่วง 1960s
3. อัตราการเจริญพันธุ์ของจีน (Fertility Rate)—จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยต่อสตรี 1 คน —อยู่ที่ 1.3 คน (ทั้งนี้อัตราการเจริญพันธุ์ของญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.36 คน ขณะที่สหภาพยุโรปอยู่ที่ประมาณ 1.5 คน)
4. สำมะโนประชากรปัจจุบันระบุว่าจีนมีประชากรชาย 723.34 ล้านคนมากกว่าประชากรหญิงที่ 688.44 ล้านคนหรือคิดเป็นสัดส่วน 1.05:1 เนื่องด้วยตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980s จีนมีระบบที่เข้มงวดในการอนุญาตครอบครัวมีลูกเพียงคนเดียวต่อครอบครัว (One-child Policy) ผลที่ตามมาที่สำคัญประการหนึ่งคือเกิดการทำแท้งแบบเลือกเพศ ส่งผลให้ประชากรเพศชายมีจำนวนมากกว่าเพศหญิง ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายเกณฑ์ลูกคนเดียวนี้ในปี 2016 แต่ก็พบว่าครอบครัวลังเลที่จะมีลูกมากกว่า 1 คน อีกทั้งผู้หญิงจีนที่มีการศึกษา หน้าที่การงานดี ก็มีแนวโน้มเลื่อนการแต่งงานออกไป อีกทั้งบางส่วนเลือกที่จะอยู่คนเดียวมากกว่าจะแต่งงาน ทั้งนี้แม้ว่าจำนวนประชากรชายจะยังมากกว่าประชากรหญิงแต่ก็พบว่าสัดส่วนชายต่อหญิงได้ปรับลดระดับลงมาเรื่อย ๆ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี
สิ่งที่สะท้อนในสำมะโนประชากรจีนรอบนี้ไม่เพียงแต่จะชี้ให้เห็นถึงการลดลงของการเพิ่มจำนวนประชากรในจีนเท่านั้น แต่ยังฉายภาพความท้าทายเชิงประชากรในอนาคตด้วย เช่น
1.สังคมผู้สูงวัย (Ageing Society) กำลังเข้าใกล้จีนมาทุกขณะ จากตัวเลขการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2020 พบว่าในประเทศจีนมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 264 ล้านคน คิดเป็น 18.7% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2010 ที่ 13.3% มีการคาดการณ์ว่าประชากรในกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านคนภายในปี 2025 และมากกว่า 400 ล้านคนภายในปี 2033
2. ในทศวรรษหน้า เด็กที่เกิดภายใต้นโยบายลูกคนเดียวจะต้องรับมือกับปัญหาครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการดูแลพ่อแม่ แม้ว่าชาวจีนจะมีระบบประกันสังคม แต่ในทางปฏิบัติมีผู้สูงวัยบางส่วนไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆจากรัฐ หรือแม้กระทั่งจากครอบครัวตัวเอง ถือว่าเป็นต้นทุนทางสังคมของจีนที่ปรับขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ว่าระบบรัฐสวัสดิการของจีนจะครอบคลุมประชากรทุกคนหรือไม่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาระนี้จะต้องตกอยู่รับรัฐบาลผ่านการเร่งตัวของค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมในอนาคต
ในความท้าทายก็มีข้อดีที่ประชากรจีนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในขั้นที่สูงขึ้นและศึกษานานขึ้น โดยจำนวนผู้เข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในจีนในรอบทศวรรษนี้อยู่ที่ 15.5 คนต่อ 100 คน จากทศวรรษก่อนที่ 8.9 คนต่อ 100 คน ส่วนจำนวนปีที่อยู่ในโรงเรียนสำหรับประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 9.91 ปีจากทศวรรษก่อนที่ 9.08 ปี
สืบเนื่องจากสำมะโนประชากรที่ได้เผยแพร่ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ข้อมูลจากสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ได้ระบุว่า รัฐบาลจีนจะอนุญาตให้คู่สมรสมีลูกคนที่สาม (Third-child Policy) เพื่อแก้ไขปัญหา อัตราการเกิดที่ลดลงและประชากรสูงอายุที่เสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศ ทั้งนี้ Bloomberg ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนว่าเกณฑ์การอนุญาตมีบุตรจะเป็นเช่นไร แต่ก็มีเสียงร่ำลือว่าทางการจีนกำลังพิจารณาหลายเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งปรับเกณฑ์การกำหนดอายุเกษียณออกไปด้วย ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณที่ดีในเชิงนโยบายออกมา แต่ในแง่การปฏิบัตินั้นก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ว่า ทางการจีนจะต้องทำบูรณาการในเชิงมาตรการสนับสนุนการมีลูกทั้งระบบ เช่น Prof. Liang Jianzhang ได้กล่าวว่าหากทางการจีนต้องการจะเพิ่ม Fertility Rate เป็น 2.1 คนจากเดิม 1.3 คน รัฐบาลอาจจะต้องจัดสรรงบประมาณราว 10% ของ GDP จีน (GDP จีนอยู่ที่ราว 15 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) เพื่อกระตุ้นให้ครอบครัวอยากมีลูก และอาจจะต้องพิจารณามาตรการจูงใจในด้านอื่นๆ ไปด้วยกัน
Citi ได้ระบุว่านัยเชิงการลงทุน (Investment Implication) ที่น่าสนใจสำหรับประเทศจีนในยุคข้างหน้าภายใต้ความท้าทายเชิงประชากร ดังนี้ 1) การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนจะต้องเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ; 2) ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมจะมาจากประสิทธิภาพของแรงงานมากกว่าจำนวนแรงงาน; 3) ระบบ Automation จะถูกนำมาใช้ในการผลิตมากขึ้น; 4) นวัตกรรมจะมีความสำคัญมากกว่าที่เคย; 5) การปฏิรูประบบการเกษียณอายุจะเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับจีนและ 6) การเตรียมความพร้อมสำหรับการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นและการดูแลผู้สูงอายุคือโอกาสทางธุรกิจ
นัยเชิงการลงทุนดังกล่าวจึงแปลงมาเป็น Theme การลงทุนที่สอดคล้องกระแสปัจจุบันและผนวกเข้าสู่กระแสอนาคตของจีนซึ่งได้แก่
- กลุ่ม Consumer โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์ได้แก่กลุ่ม Dairy Products, อาหารเสริม, Sportswear และการท่องเที่ยว
- กลุ่ม Healthcare โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์ได้แก่กลุ่ม Large Pharma, Internet Healthcare และการให้บริการดูแลผู้สูงวัย
- กลุ่ม Industrial Automation ได้แก่ กลุ่ม AI
- กลุ่ม Insurance โดยเฉพาะกลุ่มที่มุ่งเน้น Pension และ Long-term Care Insurance