ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ (11-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ระดับต่ำ 0-0.25%

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ (11-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ระดับต่ำ 0-0.25%

BF Economic Research

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ (11-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ระดับต่ำ 0-0.25% โดยระบุว่าจะยังคงดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับดังกล่าวจนกว่าตลาดแรงงานจะอยู่ในระดับที่คณะกรรมการประเมินว่าเป็นระดับการจ้างงานเต็มอัตรา (Full Employment) และเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2% และเกินระดับดังกล่าวพอสมควร (Exceed Moderately) เป็นระยะเวลาหนึ่ง (For Some Time)

  • สำหรับการเข้าซื้อสินทรัพย์ Fed ยังคงจะเข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตราปัจจุบัน USD120bn ต่อเดือน เป็นอย่างน้อย แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล (US Treasury) เดือนละ USD80bn และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ซึ่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐ (MBS) เดือนละ USD40bn โดยระบุจะเข้าซื้อจนกว่าจะเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนว่าการจ้างงานจะกลับเข้าสู่ระดับที่คณะกรรมการประเมินตัวว่าเป็นการจ้างงานเต็มอัตราและเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย
  • โดยภาพรวมแถลงการณ์ Fed ไม่เปลี่ยนแปลงจากการประชุมรอบก่อนนัก แต่ได้เน้นย้ำว่าการฉีดวัคซีนที่รวดเร็ว และแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นผลให้เครื่องชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน “เติบโตได้แข็งแกร่งขึ้น” และระบุว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ยังคงอ่อนแอ แต่ก็มีพัฒนาการดีขึ้น ส่วนเงินเฟ้อ Fed ยังระบุเช่นเดิมว่าเร่งตัวขึ้น แต่โดยหลักเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว นอกจากนี้ Fed ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโดยหลักยังขึ้นอยู่กับการระบาดของไวรัส โดยความคืบหน้าของวัคซีนจะยังคงช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่

  • อย่างไรก็ตาม Dot Plot ประจำเดือน มิ.ย.  Fed มีท่าที Hawkish ขึ้น สะท้อนผ่านแนวโน้มของดอกเบี้ยหรือ Dot Plot ที่สะท้อนว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้น 2 ครั้ง ภายในปี 2023 (จากเดิมที่ชี้ว่าจะคงดอกเบี้ยที่ 0-0.25% ตลอดจนสิ้นปี 2023) โดยคณะกรรมการ 13 จากทั้งหมด 18 ท่าน มองดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือน มี.ค.ที่มี 7 ท่าน  ซึ่งในจำนวนนั้นมีคณะกรรมการถึง 11 ท่านที่มองดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2023 นอกจากนี้ มีคณะกรรมการถึง 7 ท่านที่มองดอกเบี้ยจะปรับขึ้นตั้งแต่ปี 2022 (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่มี 4 ท่าน)

  • อย่างไรก็ตาม นาย Jerome Powell ประธาน Fed กล่าวในแถลงการณ์หลังการประชุมว่าไม่ควรใส่ใจกับ Dot Plot มากเกินไป โดยเตือนว่าการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยยัง “เร็วเกินไป (Highly Premature)”
  • ด้านประมาณการเศรษฐกิจ  Fed คาดเงินเฟ้อ PCE จะขยายตัว 3.4% ในปี 2021F (จาก 2.4% คาดการณ์ครั้งก่อน) เพื่อให้สอดรับกับเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นสูงในช่วงที่ผ่าน (เงินเฟ้อ PCE อยู่ที่ 3.6% เดือน เม.ย.) และคาดจะขยายตัว 2.1% และ 2.2% ในปี 2022-2023F ตามลำดับ (เพิ่มขึ้นปีละ 0.1ppt จากคาดกาณ์ครั้งก่อน)
  • นาย Powell กล่าวว่า ขณะที่เศรษฐกิจกำลังทยอยเปิดตามปกติ อุปสงค์สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างมากและอย่างรวดเร็ว และปัญหาคอขวด ความยากในการว่าจ้างแรงงาน รวมถึงปัจจัยกดดันอื่นๆ อาจส่งผลต่อเนื่องต่อการเปลี่ยนแปลงของอุปทานให้เป็นไปได้ช้า ซึ่งเพิ่มความน่าจะเป็นที่เงินเฟ้ออาจขยายตัวสูงและยาวนานกว่าที่ Fed เคยคาดไว้
  • สำหรับประมาณการ GDP Fed ปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 2021F ขึ้น +0.5ppt เป็น 7.0% และคาด GDP ปี 2022-2023F อยู่ที่ 3.3% และ 2.4% ตามลำดับ
    ด้านตลาดแรงงาน Fed ยังคงคาดอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) จะปรับลดลงอยู่ที่ 4.5% ณ สิ้นปี 2021F จากปัจจุบันที่ 5.8% โดยนาย Powell กล่าวว่า มีความมั่นใจว่าตลาดแรงงานอยู่ในแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น

  • นาย Powell กล่าวว่าเศรษฐกิจมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน และระบุว่าคณะกรรมการได้เริ่มปรึกษาถึงการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) แล้ว อย่างไรก็ดี นาย Powell ยังคงชี้ว่าการไปถึงจุดที่เรียกว่า “มีพัฒนาการดีขึ้นขัดเจน (Substantial Further Progress)” ซึ่งเป็นจุดที่ Fed จะใช้ในการตัดสินใจลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินตามที่ระบุในแถลงการณ์การประชุม ยังต้องใช้เวลา
  • ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องที่ล้นตลาดการเงิน (Money Market) ในช่วงที่ผ่านมา Fed ได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับจากการฝากเงินไว้กับ Fed (Interest on Excess Reserve: IOER) เป็น 0.15% จาก 0.10% และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Overnight Reverse Repo (RRP) ขึ้นเป็น 0.05% จาก 0.00% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 ในปีก่อน
  • นอกจากนี้ Fed ประกาศขยายเวลาการแลกเปลี่ยนสภาพคล่องสกุลเงินดอลลาร์ฯ  (US Dollar Liquidity Swap Line) ชั่วคราวกับธนาคารกลาง 9 แห่งจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2021 โดยกลไกนี้ได้ประกาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2020 เพื่อบรรเทาความตึงเครียดในตลาดเงินทุนดอลลาร์ฯทั่วโลกอันเป็นผลจาก COVID-19
    Swap Line Quota อยู่ที่ 60,000 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับธนาคารกลางออสเตรเลีย ธนาคารกลางแห่งประเทศบราซิล ธนาคารแห่งประเทศเกาหลี ธนาคารกลางเม็กซิโก ธนาคารกลางสิงคโปร์ และธนาคาร Sveriges Riksbank (สวีเดน) และ 30,000 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับ Danmarks Nationalbank (Denmark), Norges Bank (Norway) และ Reserve Bank of New Zealand