รายงานข่าวจาก CNBC ระบุว่า ความมั่งคั่งของครัวเรือนทั่วสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรก โดยตัวเลขรวมมูลค่าสุทธิของครัวเรือนและองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพิ่มเป็น 136.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โต 3.8% จากสิ้นปี 2020
ตามข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ล่าสุด สะท้อนว่า ความมั่งคั่งเหล่านั้นไม่ได้กระจายออกไปอย่างเท่าเทียม โดยชาวอเมริกันกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุด 1% ครอบครองเงินรวมกัน 41.52 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสแรก ขณะที่ชาวอเมริกันกลุ่มที่มีความมั่งคั่งระดับล่างสุดซึ่งมี 50% ครอบครองเงินรวมกัน 2.62 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมูลค่านับเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มคนมั่งคั่ง 1% ถึง 16 เท่า ทั้งนี้ มูลค่าสุทธิมาจากการคำนวณสินทรัพย์ทั้งหมดของบุคคล ซึ่งรวมถึงเงินสดในบัญชีเช็คและบัญชีออมทรัพย์ การลงทุนทางการเงิน และมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์หรือยานพาหนะใดๆ ที่เป็นเจ้าของ ลบด้วยหนี้ทั้งหมด รวมถึงยอดคงเหลือในบัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อการศึกษาและการจำนอง
นอกจากความมั่งคั่งในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นช่วงนี้ ส่วนใหญ่มาจากการถือครองหุ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามรายงานของเฟด ระบุว่า มูลค่าบ้านที่เพิ่มขึ้นก็มีบทบาทเช่นกัน โดยมีการถือครองอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
นักวิเคราะห์ มองว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของเฟดกระตุ้นตลาดหุ้น ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของหุ้นได้ประโยชน์จากการลงทุน เช่น ตามข้อมูลของเฟด ชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด 10% ถือหุ้นและกองทุนรวมในสหรัฐฯ ณ ไตรมาสแรกของปีนี้ ประมาณ 89% ขณะที่กลุ่มที่มีความมั่งคั่งในระดับล่างสุด 50% ในสหรัฐฯ ถือครองหุ้นและกองทุน 0.5% เท่านั้น สะท้อนความจริงการแบ่งแยกระหว่างชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุดและครัวเรือนระดับล่างในสหรัฐฯ มีช่องว่างกว้างขึ้น เพราะหากย้อนไปช่วงไตรมาสแรกปี 1990 ความมั่งคั่งของอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุดสูงกว่าล่างสุดประมาณ 6 เท่า