ญี่ปุ่นประกาศปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2017 ขึ้น จาก +0.1% QoQ ในประมาณการครั้งแรก เป็น +0.4% QoQ โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 และเพิ่มขึ้นจาก +0.7% QoQ ในการประมาณการครั้งแรก เป็น +1.0% QoQ บวกกับการลงทุนภาครัฐที่หดตัวน้อยลงจากการประมาณการครั้งแรก -0.5% QoQ เป็น -0.2% QoQ ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของ GDP นั้น ขยายตัว 0.5% QoQ เท่ากับการประมาณการครั้งแรก
ดัชนีราคาค้าส่ง (PPI) ของญี่ปุ่นขยายตัว +2.5% YoY ในเดือนก.พ. โดยได้ปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันและราคาโลหะนอกกลุ่มเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ แม้ดัชนี PPI จะปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 แต่ดัชนี PPI เดือนก.พ. นั้นถือว่าขยายตัวในอัตราช้าลงจากเดือนม.ค.ที่ขยายตัว +2.7% จากการแข็งค่าของเงินเยน
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนม.ค. หดตัว -6.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลดลง เนื่องจากฐานที่สูงในเดือนธ.ค. และการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ลดลง นอกจากนี้ การผลิตในอุตรสาหกรรมผลิตเครื่องจักรก็ชะลอลงเช่นกัน จากสภาพอากาศที่มีหิมะตกหนัก ส่งผลกระทบต่อซัพพลายของการผลิต ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับการประเมินภาพรวมของภาคการผลิตในประเทศ จาก “กำลังฟื้นตัว” เป็น “ฟื้นตัวอย่างช้าๆ” อย่างไรก็ดี ในเดือนก.พ. กระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ประมาณการว่า ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 9.0%
ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) วันที่ 8-9 มี.ค. ที่ผ่านมา BOJ ได้ประกาศคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ -0.1% ส่วนเป้าหมายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปียังคงไว้ที่ 0% เป็นไปตามตลาดคาด โดยจะเดินหน้าเข้าซื้อสินทรัพย์ต่อเนื่องตามเดิม ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ มีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2.0%
นอกจากนี้ นายคุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ยังได้ออกมาแถลงว่า BOJ อาจเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หากพิจารณาแล้วว่าจำเป็น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภาญี่ปุ่นได้มีมติอนุมัติการเสนอชื่อนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการต่ออีกสมัย พร้อมกับรับรองการเสนอชื่อรองผู้ว่าการ BOJ อีก 2 คน