BF Economic Research
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น สำหรับรายละเอียดของเครื่องชี้ดังแสดงดังตารางด้านล่าง
ในรายละเอียด
- การใช้จ่ายภาคเอกชน สะท้อนผ่านการหดตัวลง MoM (หลังปรับฤดูกาล) ของทั้งการบริโภค (PCI -3.1% MoM; แต่ยังคงโต +0.5% YoY vs. +12.6% เดือนก่อน)
• การลงทุน (PII -2.3% MoM; แต่ยังคงโต +28.1% YoY vs. +17.2% เดือนก่อน) จากองค์ประกอบของการใช้จ่ายหลักหดตัวลงทั้งหมด: อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนยังคงขยายตัว YoY จากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน - ราคาสินค้าเกษตรที่เร่งตัวช่วยหนุนให้รายได้เกษตรขยายตัวในระดับสองหลักต่อเนื่อง (+15.7% vs. +14.0% เดือนก่อน) อย่างไรก็ดี ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสะสมยังอยู่ในระดับสูง
- ภาคการท่องเที่ยวยังคงอ่อนแอมากเช่นเดิม มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 6.1 พันคน (vs. 8.5 พันคน เดือนก่อน) โดยเป็นผลจากมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังเข้มงวดสูงทั่วโลก
- ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลที่ -2.6 พันล้านดอลลาร์ฯ เป็นการขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนที่ -1.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ตามดุลบริการ รายได้และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าทรัพย์สินทางปัญญา และรายจ่ายค่าขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์