โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPT™
กองทุนบัวหลวง
ติดตามเรื่องการลงทุนมาสักพัก ใครๆ ก็พูดว่า ต้องใส่ใจประกาศจากเฟดก่อนลงทุน ว่า แต่เฟด คือ อะไร? ทำไมต้องใส่ใจขนาดนั้น และส่งผลกับการลงทุนขนาดนั้นเลยหรือ วันนี้ เรามาทำความรู้จักกับ “เฟด” ไปพร้อมๆ กัน
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เฟด หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า FED ก็คือ Federal Reserve Board หรือ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา นั่นเอง แล้วทำไม? นักลงทุนถึงให้ความสำคัญ นั่นก็เป็นเพราะว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก เรียกได้ว่า การค้า การนำเข้า การส่งออก ตลาดการเงิน ตลาดการลงทุนของทุกประเทศทั่วโลกล้วนเกี่ยวโยงกับสหรัฐฯ รวมถึงประเทศไทยด้วย
ดังนั้น แค่เฟดส่งสัญญาณเบาๆ ว่า จะปรับขึ้น ปรับลงดอกเบี้ยเพียง 0.01% ตลาดเงินก็ได้รับแรงสั่นสะเทือนแล้ว เพราะการปรับขึ้น ปรับลง อัตราดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจระดับโลก เหตุก็อย่างที่บอกว่า สหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล จึงส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ได้ไม่ยาก
สมมติว่า สหรัฐฯ รู้สึกว่า เศรษฐกิจไม่ค่อยดี เงินดูฝืดๆ เฟด หรือ ธนาคารกลาง ก็จะอาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลง เพื่อให้ลดแรงจูงใจในการฝากเงิน เพราะดอกเบี้ยน้อย สู้นำเงินไปซื้อสินทรัพย์ดีกว่า อีกส่วนหนึ่งก็กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพราะสินค้าจะมีราคาถูกลง กลุ่มคนที่กู้ยืมเงินมาลงทุน ก็รู้สึกว่าดอกเบี้ยถูก ต้นทุนต่ำลง ก็ทำให้ขายได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งวัตถุประสงค์ของเฟด ก็เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าเรามองในฐานะผู้บริโภค แน่นอนว่า ต้องพอใจมากๆ เพราะว่า ของถูก แต่สำหรับนักลงทุน ได้แต่ส่ายหัวเลย เพราะดอกเบี้ยต่ำ คือ ผลตอบแทนต่ำนั่นเอง จึงทำให้นักลงทุนมองหาตลาดการลงทุนใหม่ๆ ที่จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ ทำให้เกิดการหอบเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ที่เราเคยได้ยินกันว่า เม็ดเงินลงทุนต่างชาตินั่นเอง
และแน่นอนว่า เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ หรือที่เรียกอีกชื่อว่า ฟันด์โฟลว์ ส่วนหนึ่งก็ไหลมาลงทุนในประเทศไทยของเรา โดยตลาดลงทุนของไทยหลักๆ จะมีอยู่แค่ 2 ตลาดใหญ่ คือ ตลาดพันธบัตร สำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงมาก และอีกตลาด คือ ตลาดหุ้น สำหรับนักลงทุนที่ชอบความตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งก็อย่างที่บอกไปว่า เม็ดเงินของสหรัฐฯ นั้นมหาศาล พอเคลื่อนเข้ามาสู่ตลาดลงทุนในประเทศไทย ก็สามารถส่งผลต่อตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นของไทยได้
อย่างเช่น ตลาดพันธบัตร ถ้าเงินไหลเข้ามาพอดี ก็ส่งผลดีทำให้พันธบัตรขายได้ สถาบันการเงินก็ได้รับเงินไปลงทุนเป็นกอบเป็นกำ ไม่ต้องรอเสนอขายนานๆ ไม่ได้เงินสักที แต่ในฐานะผู้ลงทุนรายน้อยๆ อย่างเรา ถ้าพันธบัตรขายดีมากๆ ล็อตใหม่ๆ ที่ออกมา ก็มีความเป็นไปได้ว่า ดอกเบี้ยจะปรับตัวลดลง ตามกฎของดีมานด์และซัพพลาย หรือความต้องการซื้อและความต้องการขาย
ส่วนในขาที่เป็นตลาดหุ้น พอมีเม็ดเงินไหลเข้ามา ก็มีแนวโน้มได้ว่า ดัชนีจะพุ่งขึ้น หุ้นรายตัวที่เราซื้อ หรือกองทุนรวมที่เราซื้อ ถ้ามีหุ้นที่ต่างชาติเล่นก็เรียกได้ว่า เป็นขาขึ้น แต่ถ้าเรามองกันคนละมุม ซื้อหุ้นกันคนละตัว ก็อาจไม่ได้ขึ้นไป แต่ได้อาศัยแรงตลาดที่กำลังปรับตัวสูงขึ้น มีกำไรนิดๆ หน่อยๆ ก็อาจเป็นไปได้
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการยกตัวอย่างของการที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แต่เหรียญมี 2 ด้าน ในทางตรงกันข้าม ถ้าเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป ปล่อยไว้กังวลว่าอาจจะเป็นฟองสบู่ได้ ก็ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูดเงินกลับซะหน่อย! ถ้าเป็นแบบนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็มีโอกาสที่เงินลงทุนต่างชาติ จะไหลกลับบ้านเกิดสหรัฐฯ และส่งผลกระทบต่อตลาดลงทุนไทย รวมถึงตลาดลงทุนหลายๆ ประเทศทั่วโลกแน่นอน
และนี่คือ ความสำคัญของเฟด เป็นที่มาของการที่นักลงทุนบอกให้ รอก่อน รอก่อน รอเฟดประกาศนโยบายก่อน เพราะมีผลกระทบต่อแผนการลงทุนจริงๆ
ทีนี้ เราก็อาจสงสัยว่า ไม่มีทางกระจายความเสี่ยงเลยหรือ? อะไรๆ สหรัฐฯ ก็เป็นคนกำหนดเสียทุกเรื่อง
จากการศึกษาข้อมูลและจากประสบการณ์ลงทุนของผู้เขียน พบว่า เศรษฐกิจที่พอจะสู้กับสหรัฐฯ ได้ และพอที่จะต้านแรงเสียดทานจากประกาศของเฟด ก็คือ เศรษฐกิจของจีน เพราะจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จีนมีแนวคิดที่ว่า จีนทำ จีนใช้ จีนเจริญ ดังนั้น จีนจึงเข้าตำรา “ช่างมัน ฉันไม่แคร์” ตลาดหุ้นจีนเองก็ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นเอกเทศจากสหรัฐฯ มากๆ
ดังนั้น ในฐานะนักลงทุน ควรเลือกกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้น ให้มีทั้งในประเทศ ต่างประเทศ และต่างภูมิภาคด้วย