BF Monthly Economic Review – ก.ค. 2564

BF Monthly Economic Review – ก.ค. 2564

สรุปความ

BF Economic Research

ตั้งแต่ต้นปีการให้ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นก็ยังดีอยู่ ส่วนการลงทุนใน 1 เดือนที่ผ่านมา แนวโน้มความเสี่ยงด้านบวก (upside) ของการให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเริ่มปรับลดลงมา เป็นผลจากปัจจัยฤดูกาล ซึ่งในไตรมาสที่ 3 มักเป็นช่วงที่ผลตอบแทนของการลงทุนค่อนข้างชะลอตัว

001.jpg

ขณะที่ เมื่อดูดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สะท้อนว่า ดัชนี PMI ของสหรัฐฯ เริ่มผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ณ เวลานี้อยู่ในช่วงของการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะปัจจัยเรื่องฐานต่ำหมดไปแล้วและเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงในสหรัฐฯ ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจน้อยลงเมื่อเทียบกับฤดูร้อน ถือเป็นปกติ ส่วนประเทศอื่นๆ การผ่านจุดสูงสุดอาจจะช้ากว่า เช่น ยุโรป ที่เพิ่งจะอยู่เข้ามาในจุดสูงสุด ส่วนในระยะข้างหน้าอาจจะตามไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐฯ

002.jpg

สำหรับ ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้น ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งยังเป็นปัจจัยสำคัญ โดยประเทศที่มีสัดส่วนประชากรได้รับวัคซีนมากกว่ามีแต้มต่อที่ดีกว่า เพราะสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ปกติ ส่วนประเทศที่อัตราการกระจายวัคซีนช้ากว่า อาจจะเป็นความเสี่ยงด้านลบ (downside)ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งไปส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศนั้นๆ

003.jpg

ทั้งนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เอง ก็มีการออกประมาณการครั้งล่าสุดประจำเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยได้ปรับประมาณการ GDP แต่ละภูมิภาคของโลก

สำหรับ GDP โลกที่ -3.2% ในปี 2020 ประมาณการว่าจะขยายตัวเป็น 6.0% ในปีนี้ และปีหน้าจะโต 4.9% โดยเมื่อเทียบประมาณการครั้งที่แล้ว ถือว่าประมาณการ GDP ปีนี้เท่าเดิม แต่ IMF ปรับประมาณการ GDP ปี 2022 เพิ่มขึ้น

004.jpg

ในรายละเอียดของประมาณการปีนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ประมาณการ GDP ไว้แค่ 6% แต่ IMF ได้มีการปรับประมาณการ GDP ในประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสหภาพยุโรปได้ปรับ GDP ขึ้น แต่ได้มีการลดประมาณการ GDP ในประเทศตลาดเกิดใหม่ลง

เมื่อดูรายประเทศ พบว่า กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้มีการประมาณการ GDP สหรัฐฯ ปีนี้ไว้ที่ 7.0% เพิ่มจากประมาณการครั้งก่อนที่ 6.4% และเพิ่มประมาณการ GDP ยุโรป เป็น 4.6% จากครั้งก่อนมองไว้ 4.4% แต่ว่า IMF ลดประมาณการ GDP ประเทศญี่ปุ่น อินเดีย และจีนลง

ในส่วนของญี่ปุ่นและอินเดียถูกลดประมาณการจากประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นหลัก และความล่าช้าของการฉีดวัคซีน ส่วนจีนถูกลดประมาณการจากนโยบายกระตุ้นการคลัง ซึ่ง IMF มองว่าจีนถอยเร็วเกินไป

005.jpg

เมื่อดูรายภูมิภาคแบบเจาะลึกว่า ภูมิภาคไหนยังน่าสนใจลงทุนอยู่ จะพบว่า ในยุโรป PMI ยังตามเทรนด์สหรัฐฯ ซึ่งผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยขณะนี้ยุโรปกำลังเข้าใกล้จุดสูงสุด ซึ่งมีความน่าสนใจ และยุโรปเริ่มเร่งตัวการฉีดวัคซีนมากขึ้น นอกจากนี้ยุโรปยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเช่นเดิม โดยเฉพาะคำพูดของประธานธนาคารกลางสภาพยุโรป (ECB) ทำให้ตลาดไว้วางใจได้ว่า ECB จะยังคงสภาพคล่องต่อไป ซึ่งเป็นผลบวกต่อยุโรปในเชิงการลงทุน เป็นเหตุผลให้ตลาดหุ้นยุโรปช่วงนี้รับข่าวนโยบายเศรษฐกิจที่ยังคงผ่อนคลาย และตลาดเองก็มีสัดส่วน sector ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ การส่งออก รวมถึงมีแบรนด์สินค้าหรูของยุโรปที่ขยายตัวและมี upside อย่างมากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ดังนั้นในแง่การลงทุนในยุโรปก็ค่อนข้างจะเป็นดาวเด่น หรือ rising star

006.jpg

เมื่อเทียบยุโรปกับเอเชีย จะพบว่า ในแง่ของการลงทุนในเอเชีย ประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างมาก เป็นประเทศผู้ผลิตชิป รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก ดูเหมือนจะตามเทรนด์ของยุโรปไปด้วย ซึ่งก็หมายถึงไต้หวันและเกาหลีใต้

หากไปดูที่ญี่ปุ่น ในตอนแรกเข้าใจว่าหากโอลิมปิกมา ดัชนีญี่ปุ่นน่าจะตอบรับกระแสอย่างดี แต่กลายเป็นว่าการเปิดตัวโอลิมปิกมาพร้อมกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นในแง่การลงทุนในญี่ปุ่นมีธุรกิจที่ตอบรับการส่งออกค่อนข้างมาก เพียงแต่เวลานี้ยังมีปัจจัยเรื่องโควิด-19 มาเป็นอุปสรรคอยู่ อย่างไรก็ตามหากมองว่าค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ก็ยังมองว่าญี่ปุ่นเป็นตลาดที่น่าสนใจต่อการลงทุนในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ พูดถึงยุโรปและญี่ปุ่นไปแล้ว คงไม่พูดถึงสหรัฐฯ และจีนไม่ได้ โดยสาเหตุที่นำเสนอ 2 ประเทศนี้พร้อมกันคือ ในความต่างของ 2 ประเทศ ก็มีความเหมือน คือ สหรัฐฯ และจีน เป็นประเทศที่เครื่องชี้เศรษฐกิจเริ่มไม่ได้ให้ผลบวกต่ออารมณ์ของนักลงทุนเท่าที่ควรแล้ว เพราะว่าเริ่มผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ตัวเลขการขยายตัว การเติบโต เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเริ่มชะลอลง จึงเริ่มดึงดูดใจนักลงทุนน้อยลง

ประกอบกับสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะยังผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไปหรือไม่ หรือจะเริ่มรัดเข็มขัดแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยที่จับตาในทุกครั้งของการประชุม FED ซึ่งจะเป็นแบบนี้ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ดังนั้นความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินในสหรัฐฯ ยังมีอยู่

ขณะที่ จีนก็มีความเสี่ยงด้านนโยบายว่าด้วยการจัดการของภาครัฐ ที่มีผลต่อภาคธุรกิจที่รัฐบาลให้ความสนใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเทคโนโลยี การชำระเงิน การศึกษา การเรียนพิเศษ

นอกจากนั้นแล้ว ทั้งสหรัฐฯ และจีนมีการแบ่งปันความเสี่ยงร่วมกันเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ในด้านความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบยุโรปและเอเชีย กับสหรัฐฯ และจีน โดยภาพรวมแล้วการลงทุนในหุ้นก็ยังคงเป็นคำตอบที่น่าสนใจ

008.jpg

สำหรับการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ และจีน เมื่อเปรียบเทียบด้วยกันโดยใช้ภาพมหภาคเป็นหลัก ณ จุดนี้ ซึ่งเป็นช่วงไตรมาส 3 ที่ปัจจัยฤดูกาลเริ่มเบาบางลง และแต่ละประเทศก็มีความเสี่ยงอยู่ ในช่วงที่ตลาดมีการปรับฐานลงมา หากปรับฐานลงมาแรงๆ 10% ขึ้นไป แล้วมองจังหวะหุ้นในกลุ่มที่จะไม่ถูกกระทบจากกฎเกณฑ์ แต่กลับถูกเทขายออกมา ก็ยังน่าทยอยเข้าลงทุนสะสมเรื่อยๆ ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าจุดต่ำสุดอยู่ตรงไหน และโดยรวมแล้วก็เป็นเพราะว่าภาพมหภาคยังสนับสนุนสหรัฐฯ และจีนได้อยู่

มาดูที่ประเทศไทย หากเราดูภาพมหภาคเปรียบเทียบกับลมฟ้าอากาศ สิ่งที่เป็นแสงแดดเดียวของไทยคือ การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีและต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เป็นเมฆฝนสำหรับเศรษฐกิจไทย คือ การเปิดภูเก็ต แซนบ็อกซ์ เปิดการท่องเที่ยว แต่ภาพผลบวกค่อนข้างจำกัดมาก ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ไม่สู้ดี จนล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาปรับประมาณการ GDP ไทยลงเหลือ 0.7% ในปีนี้เท่านั้น โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมาก แต่มี upside อยู่ที่ตัวขับเคลื่อนเดียวคือการส่งออก ดังนั้นเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ประเทศไทยมีจุดบวกค่อนข้างจำกัด

007.jpg

เล่าเรื่องสหรัฐฯ จีน ยุโรป เอเชีย และไทยแล้ว เมื่อมาพิจารณาเรื่องกรอบเงินเฟ้อ จะเริ่มเห็นเงินเฟ้อทะยานขึ้นมาในหลายๆ ประเทศ แต่จากการที่โควิดยังแพร่ระบาดอยู่ และมีความหลากหลายของความร้ายแรงของโรค ดังนั้นเรามองว่าด้วยสถานการณ์เช่นนี้ นโยบายการเงินทั้งโลกน่าจะยังคงความผ่อนคลายไปก่อน ซึ่งจะเป็นผลบวกให้การลงทุนตราสารทุนในช่วงนี้

010.jpg

ถึงแม้ว่าจะมีการปรับฐานในบาง sector ลงมา แต่เรายังเห็นแสงสว่างในบาง sector จากการที่ญี่ปุน ยุโรป และเอเชีย ได้ภาพบวกจากการส่งออกค่อนข้างมาก ขยายตัวไม่หยุดยั้ง ขยายตัวไปเกินกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ด้วยซ้ำ ดังนั้นเราจึงให้ภาคส่งออกเป็นดาวเด่น เป็นตัวผลักดันให้การลงทุนในตราสารทุนยังมีความน่าสนใจอยู่

011.jpg

หากติดตามการลงทุนทั้งปี จะทราบว่า ไตรมาสที่ 3 เป็นไตรมาสแห่งการสะสม เพื่อไปปรับตัวขึ้นอีกทีในไตรมาสแรกของปีหน้า เพราะเวลาลงทุน ไม่ได้ลงทุนภายใน 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน แต่เป็นการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนภายใต้ระยะเวลาการลงทุนที่ไม่สั้นจนเกินไป ซึ่งทุกครั้งเมื่อดูภาพผลตอบแทนการลงทุนรายไตรมาส จะพบว่า โดยส่วนใหญ่ไตรมาสที่ 3 จะขลุกขลัก ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี และปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของปีถัดไป

โดยรวมแล้ว การลงทุนในหลายๆ ประเทศ ยังเป็นกลยุทธ์ที่ดี ซึ่งสหรัฐฯ และจีน เป็นดาวเด่นในการลงทุนตราสารทุน แต่ผลประกอบการในฝั่งยุโรปก็ดีจนเราไม่สามารถละเลยได้ ดังนั้นอาจกระจายการลงทุนในหลายประเทศมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น