ทิศทางเศรษฐกิจยูโรโซน

ทิศทางเศรษฐกิจยูโรโซน

Monthly Economic Review (March-April 2018)

เศรษฐกิจยูโรโซนหรือ EA-19 เติบโต +0.6% QoQ sa (ประมาณการครั้งสุดท้าย) ในไตรมาสที่ 4/2017 ทำให้ GDP รวมทั้งปี 2017 เร่งขึ้นเป็น +2.5% เร็วที่สุดในรอบ 10 ปี โดยที่ทุกเครื่องยนต์เศรษฐกิจสร้างผลบวก (GDP Contribution) ให้กับเศรษฐกิจยูโรโซน โดยที่การลงทุนสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ +0.9% QoQ sa (prev. -0.2% QoQ sa)

ขณะที่การส่งออกขยายต่อตัวเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว (ที่ +1.9% QoQ sa จากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวที่ +1.6% QoQ sa) เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ +1.1%QoQ sa จะเห็นได้ว่าการส่งออกขยายตัวได้มากกว่าการนำเข้าจึงยังทำให้การค้าต่างประเทศสุทธิยังส่งอานิสงส์ด้านบวกให้กับเศรษฐกิจยุโรป

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวที่ +0.2% QoQ sa ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ +0.3% QoQ sa
ในปี 2017 ที่ผ่านมายุโรปได้รับการหนุนจากหลากหลายปัจจัย เช่น ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งจากการว่างงานที่ย่อลงมาอยู่ในระดับก่อนถึงวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2007-2008 ผนวกกับอัตราค่าจ้างที่ค่อยๆขยับตัวขึ้น

ส่วนเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ใกล้ 1.0% เป็นผลบวกต่อการบริโภคครัวเรือน ระหว่างที่การค้าระหว่างประเทศขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ทั่วโลก นอกจากนั้น เม็ดเงินลงทุนมีความแข็งแกร่งในสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและความเชื่อมั่นสูง

สำหรับปี 2018 นี้เศรษฐกิจยูโรโซนยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นแต่อาจจะชะลอจากปี 2017 เนื่องด้วย 1) ฐานสูง, 2) ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายตัดซื้อที่พลิกกลับมาอ่อนตัวลง, 3) เงินยูโรที่ขยับแข็งค่า (ปัจจุบันค่าเงินยูโรอยู่ที่ 1.23 ยูโร/ดอลลาร์ฯ)อาจกระทบความสามารถการแข่งขันของสินค้าส่งออก, 4) อีกทั้งตลาดคาดหวังว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะต้องตัดสินใจกำหนดกรอบเวลาของมาตรการ QE ในช่วงปลายปีภายหลังจากที่การประชุมครั้งล่าสุดยังคงมาตรการ QE ไว้ตามเดิม, นอกจากนั้นยังมี 5) ความเสี่ยงด้านการเมืองในกรณีของประเทศอิตาลี อังกฤษ รวมทั้งรัสเซียอาจจะกระทบความั่นใจของนักลงทุนได้

ผลการเลือกตั้งของอิตาลีเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ไม่สามารถหาข้อสรุปได้มีผลให้ประเทศอิตาลีเข้าสู่สภาวะสภาแขวน (Hung Parliament) หรือสถานการณ์ที่ไม่มีกลุ่มการเมืองไหนได้รับเสียงโหวตเกินกว่า 40% โดยกลุ่มพรรคผสมฝั่งกลาง-ขวา มีคะแนนเสียงมากที่สุดราว 37% อย่างไรก็ดี Silvio Berlusconi ผู้นำกลุ่มพรรคกลาง-ขวาถูกพิพากษาคดีฉ้อโกงทางภาษี และยังคงถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น Matteo Salvini ผู้นำพรรค The League ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ Berlusconi และมีแนวคิดขวาจัด จึงอยู่ในตำแหน่งที่อาจก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีคนถัดไปได้

ขณะเดียวกันในประเทศเยอรมนี Angela Merkel ผู้นำพรรค CDU/CSU เจรจาต่อรองกับ SPD จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทำให้สามารถรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ได้เป็นสมัยที่ 4 ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและรัสเซียกำลังมีความตึงเครียดขึ้น ภายหลังรัฐบาลสหราชอาณาจักรกล่าวหาฝ่ายรัสเซียว่าอยู่เบื้องหลังการใช้อาวุธเคมีกับอดีตสายลับสองหน้าภายในสหราชอาณาจักร ส่งผลให้แต่ละประเทศตัดสินใจขับไล่นักการทูตชุดใหญ่ของอีกฝ่ายออกนอกประเทศของตน