ตลาดอสังหาฯ เอเชียแปซิฟิกเฟื่องฟู ผลจากดอกเบี้ยต่ำและความต้องการสูง

ตลาดอสังหาฯ เอเชียแปซิฟิกเฟื่องฟู ผลจากดอกเบี้ยต่ำและความต้องการสูง

CNBC รายงานว่า ราคาที่อยู่อาศัยในเมืองต่างๆ ของเอเชียแปซิฟิกในปีนี้พุ่งสูงขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ โดยมุมมองบวกเริ่มเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการฉีดวัคซีนที่เร่งตัว และบางประเทศเริ่มเคลื่อนตัวไปสู่การฟื้นตัวหลังโควิดแล้ว

นักวิเคราะห์ มองว่า ท่ามกลางบริษัทต่างๆ ที่ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบไฮบริด คือ ผสมผสานระหว่างการทำงานจากที่บ้านบางเวลา และในสำนักงานบางเวลา ก็ทำให้ความต้องการบ้านขนาดใหญ่ขึ้นเพิ่มขึ้นมา

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ร้อนแรงขึ้นในประเทศแถบเอเชีย ทำให้เกิดความคาดหมายในวงกว้างว่า รัฐบาลต่างๆ อาจจะเข้าแทรกแซงการควบคุมที่อยู่อาศัยหรือมีมาตรการอื่นๆ เช่น นโยบายการคลังหรือการเงินออกมา เช่น เกาหลีใต้ ที่ล่าสุดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ในเดือน ส.ค. ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป็นความเลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับราคาบ้านที่สูงขึ้นและการเพิ่มขึ้นของหนี้

จากข้อมูลของ Knight Frank พบว่า 10 อันดับ เมืองในเอเชียแปซิฟิกที่มีราคาบ้านเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเมื่อเทียบรายปี ณ สิ้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้แก่ เมืองเวลลิงตัน (นิวซีแลนด์) เพิ่มขึ้น 29.2% ตามด้วยเมืองโอ๊คแลนด์ (นิวซีแลนด์) เพิ่มขึ้น 25% กรุงปักกิ่ง (จีน) เพิ่มขึ้น 14.8% สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 13.9% เมืองโอซากา (ญี่ปุ่น) เพิ่มขึ้น 13.5% กรุงโตเกียว (ญี่ปุ่น) เพิ่มขึ้น 12.6% กรุงโซล (เกาหลีใต้) เพิ่มขึ้น 12.5% เมืองเพิร์ท (ออสเตรเลีย) เพิ่มขึ้น 8.9% และเมืองซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) เพิ่มขึ้น 8.6% ขณะที่ค่าเฉลี่ยการเติบโตของราคาที่อยู่อาศัยในเอเชียแปซิฟิกเมื่อเทียบรายปีอยู่ที่ 6.4% สูงสุดในรอบ 4 ปี

นักวิเคระาห์และตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ผู้ซื้อบ้านมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด นำไปสู่สงครามการประมูลและการเสนอราคาที่สูงเกินจริงเหนือราคาตลาด

Sean Coghlan ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ตลาดทุนระดับโลกของ JLL กล่าวว่า มีผู้ซื้อมากกว่าโอกาสที่มีในตลาด จึงทำให้เกิดกระบวนการประมูลที่เข้มข้นขึ้น ทั้งในกลุ่มที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาค