โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM
ใกล้เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้แล้ว วัยทำงานเริ่มต้นทำงานทุกคนที่ต้องเสียภาษี น่าจะกำลังคิดอยู่ว่า จะลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีแบบไหนดี? ระหว่างกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งโดยทั่วไป วัยเริ่มต้นทำงานน่าจะมองกองทุนรวม SSF ไว้เป็นอันดับแรก เพราะเงื่อนไขลงทุนและการถือครองที่จะง่ายและสะดวก เนื่องจากไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ปีไหนอยากซื้อก็ซื้อ ปีไหนไม่สะดวกก็ไม่ต้องซื้อ โดยการถือครองหน่วยลงทุนจะนับเป็นรายก้อน ก้อนละ 10 ปีนับแบบวันชนวัน อีกทั้งนโยบายการลงทุนก็มีให้เลือกหลากหลาย และก็มีทั้งแบบปันผล ไม่ปันผลด้วย
ส่วนกองทุนรวม RMF วัยเริ่มต้นทำงานหลายๆ คนมักจะมองข้ามไป เพราะเงื่อนไขลงทุนและการถือครองนั้นค่อนข้างที่จะนาน ซึ่งก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 55-5-5 คือเมื่อลงทุนไปแล้ว ต้องลงทุนต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ แม้ว่าจริงๆ จะสามารถลงทุนแบบปีเว้นปีได้ ก็คือปีนี้ลงทุน ปีหน้าเว้น ปีต่อไปต้องลงทุน โดยห้ามขาดการลงทุน 2 ปีติดต่อกัน มิฉะนั้นจะนับว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไข โดยผู้ให้คำแนะนำการลงทุนก็มักจะให้จำว่าต้องลงทุนทุกปี เพื่อป้องกันการลืมจนทำให้ผิดเงื่อนไขการลงทุน
นอกจากนี้ ยังมีหลักเกณฑ์ 5-5 อีก 2 อย่าง ก็คือ ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีลงทุน และถือครองกองทุนรวม RMF อย่างน้อย 5 ปี นับแบบวันชนวัน โดยจะนับจากการลงทุนกองทุนรวม RMF ก้อนแรกที่ลงทุน ซึ่งถ้าหากเราเลือกลงทุน โดยคิดแต่เพียงว่าต้องการลดหย่อนภาษีเท่านั้น เชื่อได้เลยว่า หลายคนน่าจะไม่ชายตามองกองทุนรวม RMF ด้วยซ้ำไป สาเหตุหลักก็น่าจะมาจากการที่ไม่อยากรู้สึกว่ามีภาระผูกพันในการลงทุนระยะยาว
ทั้งนี้ ถ้าหากเราลองปรับทัศนคติกันใหม่จะพบว่า การลงทุนในกองทุนรวม RMF นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การได้วางแผนลงทุนเพื่อวัยเกษียณ เพื่อเป็นการสะสมความมั่งคั่งสำหรับเป้าหมายในอนาคตที่ทุกคน “ต้องมี” เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า เราไม่สามารถคาดหวังเงินสวัสดิการจากรัฐ หรืออัตราดอกเบี้ยจากเงินออมได้ ดังนั้น ถ้าหากเราอยากจะมีคุณภาพชีวิตในช่วงเกษียณที่ดี ก็จำเป็นต้องมีเงินกิน มีเงินใช้ รวมถึงมีเงินรักษาพยาบาลด้วย
การลงทุนในกองทุนรวม RMF จึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะนอกจากจะมีนโยบายลงทุนให้เลือกหลากหลายแล้ว ด้วยเงื่อนไขในการลงทุนและการถือครอง ที่เราคิดว่ายุ่ง ยาก เยอะ ตามหลักเกณฑ์ 55-5-5 นี้เอง ที่ช่วยให้เรามีวินัยในการลงทุน และสามารถลงทุนระยะยาว เพื่อเป้าหมายวัยเกษียณได้เป็นอย่างดี
สาเหตุที่แนะนำให้วัยเริ่มต้นทำงาน เริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม RMF ตั้งแต่เนิ่นๆ นั้น นอกจากจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไขแล้ว การลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ ยังช่วยผ่อนแรงให้เราไปถึงเป้าหมายเกษียณได้ง่ายขึ้น สบายขึ้น และไม่ต้องเหนื่อยเร่งหาเงินในช่วงท้ายๆ ของวัยทำงาน แม้ว่าในช่วงท้ายๆ ของวัยทำงาน เราอาจจะได้เงินเดือนเยอะขึ้นก็จริง แต่ก็จะมีภาระทางการเงินอื่นๆ ตามมาอีกเต็มไปหมด ดังนั้น ถ้าหากเราเริ่มต้นลงทุนได้ตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่มีภาระการเงินก็จะดีมากๆ
ยกตัวอย่าง สมมติว่าตอนนี้เราอายุ 30 ปี ไม่มีเงินลงทุนเริ่มต้นเลยสักบาท แต่ต้องการมีเงิน 5 ล้านบาท ณ วันที่เกษียณอายุ 55 ปี เท่ากับว่าเรามีระยะเวลาลงทุน 25 ปี โดยรับความเสี่ยงได้ปานกลาง-ค่อนข้างสูง จึงตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่คาดว่าน่าจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 7% ต่อปี โดยเมื่อคำนวณออกมาแล้ว จะต้องลงทุนต่อเดือนประมาณ 6,100 บาท แต่ถ้าหากเราไม่เริ่มต้นลงทุนตั้งแต่ตอนนี้ แต่คิดไปเริ่มต้นลงทุนตอนอายุมาก สมมติว่าจะเริ่มต้นลงทุนตอนอายุ 45 ปี เราจะมีระยะเวลาลงทุนแค่ 10 ปีก่อนเกษียณเท่านั้น ทำให้เราจะต้องเร่งลงทุน คิดเป็นเงินต่อเดือนประมาณ 28,000 บาท เพื่อให้มีเงิน 5 ล้านบาทตามเป้าหมาย ณ วันที่เกษียณอายุ 55 ปี จะเห็นได้ว่า เริ่มต้นไว ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า
นอกจากนี้ การเริ่มต้นลงทุนในกองทุน RMF ตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้เรามีระยะเวลาลงทุนได้นาน ทำให้เราสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมาหน่อยได้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลกอยู่ในตอนนี้ ก็สามารถลงทุนได้ในสัดส่วนที่เยอะขึ้นหน่อยได้ และเมื่อลงทุนไปสัก 10 ปี 20 ปี ก็อาจพิจารณาปรับลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนลง โดยเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายความเสี่ยงน้อย เพื่อรักษาความมั่งคั่งที่สะสมเอาไว้เป็นระยะเวลานาน
แต่ถ้าหากเราเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม RMF ตอนที่อายุมากแล้ว นั่นหมายความว่า เราจะเหลือระยะเวลาลงทุนอีกไม่มาก ดังนั้น เพื่อให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายขนาดใหญ่ที่ต้องการเงินจำนวนมากอย่างเป้าหมายเกษียณ เราจึงจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น หรือต้องเลือกลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทน ซึ่งนั่นอาจทำให้เรามีภาระทางการเงินมากจนเกินไป รวมถึงต้องลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าที่ตัวเราเองยอมรับได้ และถ้าหากทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ ก็อาจทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเกษียณสุขได้