ประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศจะเรียกเก็บภาษีจากจีนทั้งสิ้น 6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วน 9.4% ของมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน (6.36 แสนล้านดอลลาร์ฯ) หรือราว 2.6% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของสหรัฐ (2.3 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) จากการพิจารณาของ USTR ภายใต้ SECTION 301 Special, กลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯอาจจะปรับภาษีขึ้นได้แก่ สินค้าในกลุ่ม Aerospace, Information and Communication Technology, and Machinery
ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯได้ใช้มาตรการ Safeguard (Safeguard Measures) เพื่อขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 2 ประเภทซึ่งได้แก่ เครื่องซักผ้า (สูงสุด 50%), Solar Panel (30%) เมื่อเดือน ม.ค. พร้อมทั้งภายหลังได้ปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าประเภทเหล็ก (25%) และอลูมิเนียม (15%) ในเดือนมี.ค.
จากนั้นในเดือนเม.ย. จีนตอบโต้กลับด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 128 รายการโดยที่ 120 รายการได้รับการปรับขึ้นภาษีนำเข้า 15% ส่วนที่เหลืออีก 8 รายการ (ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหมู) ได้รับการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 25% ดังมีรายนามดังนี้
ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอาหารเช่น ผลไม้ ถั่ว ไวน์ และเนื้อหมู และคิดเป็น 90% ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯส่งออกที่ราว 3 พันล้านดอลลาร์ฯ
ซึ่งมีผลให้สหรัฐฯออกมาตรการตอบโต้ด้วยการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเป็น 25% (ราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ) สินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด 1,300 รายสินค้าเจาะกลุ่ม High-tech เช่นกลุ่ม Semiconductors และแบตเตอรี่ลิเทียม เป็นต้น ซึ่งจีนได้ตอบโต้กลับว่าจะออกมาตรการที่ให้ผลกระทบต่อสหรัฐฯในมูลค่าความเสียหายที่ใกล้เคียงกัน
ศึกครั้งนี้จะยืดเยื้อหรือไม่ ?
ในแง่ของมูลค่าทางการค้าเราพบว่ามูลค่าของสินค้าสี่ประเภทที่สหรัฐฯตั้งกำแพงภาษีนั้นมีมูลค่าในกรอบราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 2.0% ของมูลค่าการนำเข้าสหรัฐฯจากจีน หากรวมกับอีก 1,300 รายการสินค้าที่จะเข้ามาใหม่ซึ่งอยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ น่าจะกินสัดส่วนประมาณ 10%ของมูลค่าการนำเข้าสหรัฐฯจากจีน
ขณะที่มูลค่าสินค้า 128 ประเภทที่จีนตั้งกำแพงภาษีมีมูลค่าราว 3 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือ 0.2% ของการนำเข้าสินค้าของจีนจากสหรัฐฯ ซึ่งจีนอาจจะใช้มาตรการตอบโต้กลับเพิ่มเติมด้วยมูลค่าที่เท่ากันได้ตามกฎ ของ WTO
ด้วยสัดส่วนของกลุ่มสินค้าเป้าหมายที่ต่ำเมื่อเทียบกับการนำเข้าของทั้งสองฝ่าย สะท้อนว่าต่างฝ่ายมิได้อยากให้สงครามการค้าที่ประทุรุนแรงกระทั่งถึงกับต้องให้บานปลายกระทบเศรษฐกิจในวงกว้าง เนื่องจากหลังจากนั้นไม่นาน สหรัฐฯก็ได้เพิ่มเงื่อนไขในการทำ Safeguard Measures เพื่อให้ประเทศผู้ได้รับผลกระทบมีจำนวนที่ลดลง ส่วนหมัดที่ปล่อยจากจีนก็ไม่ได้อยู่ในมูลค่าที่สูงนัก
นอกจากนี้ในส่วนของกระบวนการการเจรจาการค้าโดยใช้เวที WTO เป็นสื่อกลาง ก็ต้องใช้เวลาในการไต่สวนอย่างต่ำ 6-18 เดือน และประเทศผู้ได้รับผลกระทบก็สามารถใช้มาตรการตอบโต้กลับได้เช่นเดียวกัน ทำให้เรามองว่าการตอบโต้ทางการค้านี้เป็นเรื่องของการเมืองเป็นหลัก มากกว่าที่จะเข้าห้ำหั่นกันให้ตกไปข้างหนึ่ง เมื่อถึงจุดหนึ่งทั้งสองประเทศต้องหันมาเจรจาหาข้อยุติ เพราะการเปิดสงครามการค้าระหว่างกัน กระทบกับความมั่นใจและผลประกอบการทางธุรกิจของหลายประเทศไม่เพียงแต่สองประเทศคู่ปัญหาเท่านั้น
แม้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะมีจำกัดแต่ก็มีส่วนทำให้ตลาดตกใจทั้งโลก
นับตั้งแต่ประเทศมหาอำนาจหยิบยกประเด็นการค้าเข้าห้ำหั่นกัน ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ปรับตัวลงรับกับ ข่าวดังกล่าว และเมื่อผนวกกับความคืบหน้าล่าสุดที่ ทำเนียบขาวรายงานว่ากำลังพิจารณาใช้กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุฉุกเฉินของประเทศ (National Emergencies) เพื่อจำกัดการเข้ามาลงทุนจากจีน โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากสภาคองเกรส และกำลังพิจารณาจำกัดการลงทุนในบางกลุ่ม ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะถูกจำกัดเบื้องต้น ได้แก่ กลุ่มวัสดุกึ่งตัวนำ (Semiconductors) และการสื่อสาร 5G (5G Wireless Communications) ก็มีผลให้ราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีลดลงค่อนข้างมาก
โดยตั้งแต่เดือนม.ค. เป็นต้นมาจะเห็นได้ว่าดัชนีหุ้นปรับตัวทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่ม DM ที่ปรับลงค่อนข้างแรงเมื่อเทียบกับตลาดเอเชีย และกลุ่มอาเซียน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ตอบรับกับข่าวสงครามทางการค้าดังกล่าวนัก