โดย อรพรรณ บัวประชุม CFP®
ถ้าอยากลดหย่อนภาษี อยากมีเงินเหลือเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ เชื่อว่าคำตอบที่หลายๆ คนคิดถึงก็คือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แต่ไม่ใช่ว่ากองทุนรวม RMF จะเหมาะกับทุกคน นั่นเป็นเพราะว่า กองทุนรวม RMF เหมาะกับคนที่ต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ดังนั้น หากใครที่ยังไม่เสียภาษี แนะนำให้ลงทุนในกองทุนเปิดทั่วไปจะดีกว่า ส่วนใครที่ยังไม่มั่นใจเพราะเพิ่งเริ่มทำงาน ไม่รู้ว่าปีนี้จะต้องเสียภาษีมั้ย มีวิธีคำนวณง่ายๆ สำหรับปีภาษี 2564 ดังนี้
- เงินเดือน 12 เดือน + รายได้อื่นๆ + โบนัส <= 316,225 บาท ไม่ต้องเสียภาษี
- เงินเดือน 12 เดือน + รายได้อื่นๆ + โบนัส > 316,225 บาท เริ่มเสียภาษีแล้วค่ะ
วิธีการคำนวณคือ ค่าใช้จ่าย 50% ไม่เกิน 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และหักเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 6,225 บาท (เฉพาะปีภาษี 2564) และเงินได้สุทธิ 150,000 บาท แรกได้รับการยกเว้น
หรือเฉลี่ยต้องมีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 26,352 บาท จึงจะเริ่มเสียภาษีเงินได้ (316,225/12 เดือน) ดังนั้นหากใครมีเงินเดือน 30,000 บาท ขึ้นไป แน่นอนว่าจะต้องเสียภาษีด้วย นอกจากว่าเราจะมีค่าลดหย่อนอื่นๆ อย่างเช่น ลดหย่อนคุณพ่อคุณแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีเงินได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ก็สามารถหักลดหย่อนได้ แต่ถ้าใครที่ไม่มีค่าลดหย่อนอื่นๆ การเลือกลงทุนในกองทุนรวม RMF ก็เป็นวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะนำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังเป็นการลงทุนระยะยาวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้อนาคตมีเงินสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอีกด้วย
ตัวอย่างการคำนวณสิทธิที่ลงทุนได้
- เงินเดือน 30,000 บาท
- รายได้ทั้งปี (30,000 x 12) = 360,000 บาท
- ลงทุน RMF สูงสุดได้ 30% = 108,000 บาท
- เงินลงทุน RMF ต่อเดือน = 9,000 บาท
แต่อย่าเพิ่งตกใจกันไปค่ะ เพราะนี่เป็นสิทธิที่สามารถลงทุนได้
หากต้องการลดหย่อนภาษีเต็มจำนวน ลองคำนวณตามนี้ค่ะ
คำนวณการลงทุน RMF ตามสิทธิลดหย่อนภาษี
เงินได้ทั้งปี – รายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษี = เงินลงทุนตามสิทธิลดหย่อนภาษี
- 360,000 – 316,225 = 43,775 บาท
คำนวณเงินลงทุน RMF ต่อเดือน
- 43,775 / 12 = 3,648 บาท
จากข้อมูลนี้ เราสามารถลงทุนเท่าๆ กันทุกเดือน เดือนละ 3,648 บาท หรือจะลงทุนเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน เท่ากับ 36,000 บาท และลงทุนอีก 7,775 บาท ในช่วงที่เราอยากลองจับจังหวะการลงทุนก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งการลงทุนเดือนละ 3,000 บาท กับรายได้เดือนละ 30,000 บาทนั้น ถือเป็นการลงทุนขั้นต่ำเพียง 10% ของรายได้ ดังนั้น หากต้องการลงทุนเพิ่มก็สามารถเพิ่มการลงทุนในกองทุนเปิดทั่วไปที่ไม่ต้องยุ่งกับเรื่องภาษี เพื่อให้มีเงินลงทุนต่อเดือนให้ได้อย่างน้อยๆ 20% ก็จะช่วยให้เราถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นค่ะ
สำหรับการเลือกลงทุนในกองทุนรวม RMF นั้น มีหลากหลายนโยบายให้เลือกมากมาย สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาว อาจจะเลือกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนต่างประเทศ อย่างเช่น กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยีเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-INNOTECHRMF) ที่ลงทุนในเทคโนโลยีที่เราคุ้นเคย หรือจะเป็นกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (BCARERMF) ซึ่งลงทุนใน Healthcare ทั่วโลก หรือจะเป็นกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลธีมเมติกออพพอร์ทูนิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (B-GTORMF) ที่ลงทุนในบริษัทที่คิดค้นและได้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่ๆ ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจากหลายธุรกิจทั่วโลก
การลงทุน สามารถทยอยลงทุนทุกเดือนเท่าๆ กัน อาจจะลงทุนทั้ง 3 กองทุนเลยก็ได้ หรือชอบกองไหนเป็นพิเศษจะเพิ่มการลงทุนในกองนั้นมาเป็นพิเศษก็ได้ เพียงแค่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องสนใจว่าเดือนนี้ต้นทุนสูงไป ราคาต่อหน่วยแพงไป แค่ลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่าๆ กันอย่างสม่ำเสมอก็ทำให้เป้าหมายระยะยาวของเราสำเร็จได้ค่ะ และอย่าลืมว่าในปีหน้าหากมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็สามารถลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนรวม RMF เพื่อช่วยลดหย่อนภาษี และเพิ่มโอกาสให้เงินลงทุนถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นด้วยค่ะ