By…หทัยภัทร พรหมน้อย
Sharing economy – To share more and to buy less เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว
การแบ่งปัน (Sharing) เป็นส่วนหนึ่งในพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ ทำให้ทรัพยากรบางประเภทที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ได้ถูกนำมาใช้ เพื่อให้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันการเข้าถึงมสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตนับเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยทำให้คนเราแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างกันได้สะดวกมากขึ้น
เราสามารถแบ่งปัน playlist เพลงได้ง่ายผ่าน JOOX โดยที่ไม่ต้องซื้อเพลงนั้นๆ เราสามารถเรียกคนแปลกหน้าให้ขับรถมารับเราผ่านแอปพลิชั่นของ Uber หรือ Grab ได้ เราสามารถหาห้องหรือบ้านเพื่อพักผ่อนตากอากาศ ผ่าน Airbnb ได้โดยไม่ต้องลงทุนซื้อบ้านตากอากาศ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Sharing economy ซึ่งเข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ (หรือจริงๆอาจกล่าวได้ว่า เป็นการดึงพฤติกรรมมนุษย์กลับสู่พฤติกรรมดั้งเดิมผ่านความเจริญทางเทคโนโลยี)
PwC คาดการณ์ว่า Sharing economy ของโลกจะเติบโตจาก US$15 Billion ในปี 2014 เป็น US$335 Billion ในปี 2025 โดย Sector ที่เติบโตสูงสุดคือ กลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มเช่ารถ, กลุ่มการเงิน กลุ่มทรัพยากรมนุษย์และกลุ่มบันเทิง
คนส่วนใหญ่อาจมีความกังวลใจว่า เมื่อเรา Share more and buy less แล้ว ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางลบ แต่จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พบว่า ผลเป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ Sharing economy ก่อให้เกิดการนำไปสู่ไลฟ์สไตล์แบบยั่งยืน เป็นการลดของเสีย (waste) ออกจากระบบ
ขณะเดียวกันยังคงสร้างประสบการณ์การบริโภคในทางบวกและไม่ลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจาก 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือนหมดไปกับสินค้าที่แลกเปลี่ยนได้ในชีวิตประจำวัน โดยสินค้าเหล่านั้นกลับกลายมาเป็น 1 ใน 3 ของของเสียที่เกิดขึ้นในครัวเรือน ถ้าโมเดลของการแบ่งปันเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่สมเหตุสมผลที่สุด จะเกิดการประหยัดในครัวเรือน 7% และ ลดการขับของเสียออกจากครัวเรือนสูงถึง 20%
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นประโยชน์ของ Sharing economy ในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ Sharing economy ยังก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนประโยชน์ในทางสังคมนั้น Sharing economy ก่อให้เกิดการสร้างสังคมรูปแบบใหม่ เป็นการสร้างความเชื่อใจระหว่างประชากร รวมถึงทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น
เมื่อมองกลับมาในระยะยาว เราพบว่ามีธุรกิจในหลายภาคอุตสาหกรรมที่ต้องมีการปรับตัว เช่น อุตสาหกรรมโรงแรม รถยนต์ สื่อบันเทิง หรือแม้กระทั่ง Logistics โดยสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายแก่ผู้ประกอบการที่ต้องหาประโยชน์และพัฒนาธุรกิจตนเองเพื่อสอดคล้องกับแนวโน้ม Sharing economy ให้ได้ในที่สุด