โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM
ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการวางแผนเกษียณกันมากขึ้น โดยกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสร้างวินัยในการลงทุนให้กับเรา ซึ่งวินัยที่ว่านี้ เกิดจากเงื่อนไขในการลงทุนและการถือครองหน่วยลงทุน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ RMF ที่อาจทำให้เรารู้สึกว่ายุ่งยากอยู่สักหน่อย
แต่ในระยะยาวเชื่อเถอะว่า การลงทุนอย่างมีวินัยจะช่วยให้เงินลงทุนของเรามีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และถ้าหากเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย ก็เท่ากับว่า เรายังมีระยะเวลาลงทุนอีกนาน จึงทำให้ไม่ต้องลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ๆ ณ วันที่ใกล้จะเกษียณอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่เสนอขายอยู่ในท้องตลาดนั้นมีนโยบายลงทุนให้เลือกหลากหลาย เพื่อที่ผู้ลงทุนจะสามารถนำมาจัดสัดส่วนพอร์ตการลงทุนสำหรับแผนเกษียณของตัวเองได้อย่างเหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และเหมาะสมกับระยะเวลาในการลงทุนที่สั้น-ยาว ไม่เท่ากันของแต่ละคนด้วย ซึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจลงทุนในกองทุนรวม RMF ตั้งแต่อายุยังน้อย สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น ไม่ว่าจะหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศได้ในสัดส่วนที่มากขึ้นหน่อย เนื่องจากอายุยังน้อยและมีระยะเวลาลงทุนอีกนานกว่าจะเกษียณ
โดยกองทุนรวมที่แนะนำ ควรมีนโยบายลงทุนที่มีเทรนด์การเติบโตไปพร้อมกับโลกในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันโลกของเรากำลังขับเคลื่อนด้วยเทรนด์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยได้รับแรงส่งหรือปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้กลุ่มผู้บริโภคในทุกช่วงวัย (รวมถึงตัวเราเองด้วย) ต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน เรียกได้ว่า ถูกผลักให้เข้ามาเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีกันอย่างจำเป็น ทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงในส่วนของผู้ผลิตเอง ก็ได้ปรับตัวเข้าสู่ช่องทางหรือแพลตฟอร์มดิจิตัลมากขึ้น เพื่อเป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมถึงลดต้นทุนการผลิตด้วย
สำหรับกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น รวมถึงมีการลงทุนตามเทรนด์ของโลก ปัจจุบันมีให้เลือกหลายกองทุนมาก โดยเรามักจะมองหากองทุนรวมที่มีการกำหนดนโยบายลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปเลย เพราะเชื่อว่าเทรนด์นี้จะเป็นเทรนด์ของโลกในระยะยาว
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เทรนด์ของโลกสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราในการติดตามข่าวสาร และปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ แต่ถ้าหากเราต้องการลงทุนระยะยาวแบบสบายใจ ก็อาจจะต้องเลือกลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนเปิดกว้างมากขึ้น
โดยการลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่อยากจะแนะนำในช่วงนี้ คือกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ซึ่งหุ้นสหรัฐฯ ก็มีความน่าสนใจ และเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดพอร์ตลงทุน โดยสามารถนำมากระจายความเสี่ยงด้านภูมิภาค เพราะการลงทุนในหุ้นในแต่ละภูมิภาคก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป อย่างหุ้นสหรัฐฯ เองก็ได้เปรียบในแง่ของการเป็นประเทศมหาอำนาจ ที่สามารถนำพาเศรษฐกิจโลก และยังมีหุ้นดีๆ ที่น่าสนใจ อย่างหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม
แต่สำคัญที่สุดคือ “ตัวของเราเอง” ต้องเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมาย และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วย
สำหรับกองทุนที่อยากแนะนำคือ กองทุนเปิดบัวหลวงยูเอสอัลฟ่าเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ B-USALPHARMF ซึ่งมีนโยบายลงทุนหลักเหมือนกับกองทุนเปิดบัวหลวงยูเอสอัลฟ่า (B-USALPHA) คือนำเงินไปลงทุนในกองทุนหลักของ JP Morgan Funds ที่ชื่อว่า US Growth Fund ไม่ต่ำกว่า 80% ของ NAV
กองทุนนี้บริหารแบบ Active ที่เน้นลงทุนในหุ้น Thematic ที่คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ในระยะยาว ซึ่งเทรนด์ปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้หุ้นที่มีอยู่ในพอร์ตตอนนี้ เน้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี (Technology) และบริการสื่อสาร (Communication Services) แต่ในอนาคตถ้าเทรนด์การลงทุนเปลี่ยนไป กองทุนนี้ก็สามารถนำเงินไปลงทุนในหุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่น่าสนใจได้
นอกจากนี้ ในส่วนของเงินลงทุนที่เหลือจากการลงทุนในกองทุนหลัก ผู้จัดการกองทุนของกองทุนบัวหลวง สามารถเฟ้นหาหุ้นสหรัฐฯ ที่น่าสนใจเป็นรายตัวเพื่อลงทุนได้ด้วย โดยเน้นการลงทุนแบบ Active ที่เน้นลงทุนในหุ้น Thematic ที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีตามสไตล์ของกองทุนบัวหลวง
ทั้งนี้ จุดต่างของกองทุน B-USALPHA และ B-USALPHARMF ก็คือ B-USALPHARMF จะไม่มีนโยบายจ่ายปันผล โดยสิทธิในการลงทุน รวมถึงเงื่อนไขในการถือครองเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนในกองทุน RMFของสรรพากร (โปรดศึกษาข้อมูลภาษี)
กองทุนเปิด B-USALPHARMF เสนอขายครั้งแรก (IPO) วันที่ 23-30 พฤศจิกายน 2564 นี้ โดยกำหนดขั้นต่ำในการลงทุน 500 บาท
ผู้ลงทุนที่สนใจติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนและคู่มือการลงทุนได้ที่ กองทุนบัวหลวง โทร. 0 2674 6488 กด 8 หรือผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ได้แก่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส บมจ.หลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน บมจ.หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร บจ.หลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ กรุงศรี และ บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย)
นอกจากนี้สามารถลงทุนง่ายๆ ผ่าน Bangkok Bank Mobile Banking ในช่วงเวลา 8.30 – 16.00 น. และชำระเงินลงทุนผ่านบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพได้ หรือจะลงทุนผ่านแอปพลิเคชันลงทุนของตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งก็ได้