สรุปความ
Economic Research
BBLAM ขอนำเสนอมุมมองเศรษฐกิจรายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยูโรโซน ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และไทย ในปี 2022 โดยจะแบ่งการเผยแพร่มุมมองออกเป็น 2 ตอน คือ ในตอนแรกจะพูดถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และไทยก่อน จากนั้นในตอนที่ 2 จะกล่าวถึงเศรษฐกิจยูโรโซน ญี่ปุ่น และอินเดีย โดยก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่มุมมองรายประเทศ ขอเริ่มต้นที่การสรุปการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2022 กันก่อน
ข้อสังเกตที่พบคือ ปีนี้ภาพผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2021 มาจากผลของฐานสูง โดยประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ก่อน มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาก่อนในปี 2021 ปีนี้อาจจะไปต่อ แต่อัตราการขยายตัวของ GDP อาจชะลอตัวลง
ทั้งนี้ใน 6 กลุ่มประเทศ ที่เราติดตามข้อมูลอยู่ มี 4 ประเทศที่ GDP เติบโตชะลอตัวลง จะมีเพียง 2 ประเทศที่ได้รับการปรับปรุงอัตรา GDP ขยายตัวดีขึ้น คือ ญี่ปุ่น และไทย ซึ่งเป็นไปตามภาพการฟื้นตัวจากโควิด-19
ณ วันที่จัดทำแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ คือ ช่วงเดือน ธ.ค. 2021 ซึ่งภาพของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังไม่ได้เข้ามาในประมาณการ GDP ในปี 2022 รอบนี้ แต่ว่า ญี่ปุ่น และไทย ได้รับการปรับประมาณการ GDP ดีขึ้น เนื่องจากการขยายตัวค่อนข้างช้าในปี 2021 จึงเกิดฐานต่ำที่ทำให้ GDP สามารถขยายตัวได้สูงขึ้นในปี 2022
ในส่วนของญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัว 2.9% ปีนี้ ส่วนปี 2021 เรามองไว้ที่ 2.2% สำหรับประเทศไทย ปี 2021 มองไว้ว่าการขยายตัวค่อนข้างจะแบนราบ โดยอยู่ที่ 0.8-1% ส่วนปีนี้เรามองไว้ 3.5% ส่วนบางเจ้ามองการเติบโตไว้ถึง 4%
ดังนั้นเราก็จะเห็นว่ามี laggard หรือการขยายตัวที่ตามหลังเกิดขึ้น นั่นคือ ญี่ปุ่นและไทยเอง
ขณะที่ หากพิจารณาภาพของเศรษฐกิจรายประเทศ เพื่อมองหาจังหวะการลงทุน มีประเด็นหลักที่นำไว้พิจารณาคือ
1.นโยบายการเงิน
2.นโยบาการคลัง
3.ประเด็นภายในประเทศ
4.ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
- สหรัฐฯ
เศรษฐกิจค่อนข้างเฟื่องฟูมากในปี 2021 ด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย นโยบายการคลังที่ต่อเนื่องมา ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือโควิด-19 มีหลายส่วนที่เป็นการแจกเงินให้ประชาชนติดๆ กัน ซึ่งทั้ง 2 ส่วน ถือว่าเฟ้อมากในปี 2021
พอมาถึงในปี 2022 เราได้เห็นเอกสารการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไปแล้ว เป็นแรงเขย่าตลาดในช่วงนี้ไปแล้ว ดังนั้นจากภาพฉายในช่วงนี้ ทำให้เห็นว่า นโยบายการเงินจะไม่ใช่ตัวช่วยสำหรับสหรัฐฯ แล้ว
ส่วนนโยบายการคลัง ที่เคยมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเยอะมาก พอมาปี 2022 ทั้งพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน อาจจะต้องมีการเตรียมตัวสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งกลางเทอมที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2022 ดังนั้นภาพการผลักดันนโยบายอาจจะเบาลงเมื่อเทียบกับปี 2021 โดยเฉพาะการขยายเพดานหนี้สาธารณะที่ได้รับการขจัดออกไปแล้วทั้งปี ด้วยเหตุนี้ภาพที่จะเป็นสีสันของตลาดในเชิงของนโยบายการคลังประจำปี ไม่น่าจะมีแล้ว หรืออาจจะมีความท้าทายในเชิงเม็ดเงินการคลังด้วยซ้ำ
ดังนั้นนโยบายการคลังในปี 2022 อาจจะไม่มากเท่าปีที่ผ่านมา แต่ว่าในแง่การลงทุน มีเรื่องของเงินเฟ้อเข้ามากระทบทั่วโลก ซึ่งภาพของเงินเฟ้อนี้อาจจะเป็นตัวกำหนดว่ากลุ่มที่จะไปลงทุน อาจต้องเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อที่ยังมาอยู่
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการใช้จ่ายในภาคบริการ เพราะปี 2021 คนสหรัฐฯ ซื้อสินค้าชิ้นใหญ่อย่างบ้านและรถไปแล้ว หากปีนี้ยังมีกำลังในการซื้อ เราก็จะต้องมามองการใช้จ่ายในภาคบริการ เช่น การขนส่ง โลจิสติกส์ เฮลธ์แคร์ โดยเงินที่ใช้จ่ายไปกับสิ่งที่เราไม่เห็นคือภาคบริการ ซึ่งต้องมาติดตามดู เพราะการใช้จ่ายภาคบริการค่อนข้างต่ำในปีที่ผ่านมา จึงต้องมาติดตามว่าในปีนี้จะกลับมาหรือไม่
- จีน
เศรษฐกิจดูอ่อนแรงในช่วงครึ่งปีหลัง ยาวถึงเดือน พ.ย. 2021 โดยจีนมีทั้งดราม่าในเชิงนโยบาย เชิงความขัดแย้งระหว่างประเทศ และกฎเกณฑ์ของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งทำให้ภาพของจีนในปีที่ผ่านมาไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ จนมาถึงช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2021 ธนาคารกลางจีนที่เคยมีท่าทีสงบเสงี่ยมในเรื่องนโยบายการเงินมานาน ก็มีการปรับลดอัตราสำรองของเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ลง เพื่อให้มีสภาพคล่องเข้าสู่ระบบมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตลาดต้องการให้เกิดตลอดทั้งปี 2021 แต่เพิ่งมาเกิดในช่วงปลายปี ดังนั้นจึงเป็นการสร้างความหวังให้นักลงทุนในจีนเบาๆ ว่า ธนาคารกลางจีนน่าจะดำเนินนโยบายการเงินไปในทิศทางที่สบายขึ้นหรือไม่
โดยรวมมองว่า จากนี้ไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ไม่คิดว่าธนาคารกลางจีนจะคุมเข้มอะไร แต่คาดว่าจะดำเนินนโยบายการเงินที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ตลาดเบาใจมากขึ้น
ส่วนนโยบายการคลัง ปี 2021 จีนเองรัดเข็มขัดในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นที่จะออกพันธบัตรระดมทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนโครงการก่อสร้างต่อ แต่มาในปีนี้มีการเพิ่มโควต้าให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ในการลงทุนได้มากขึ้น ดังนั้นภาพของการคลังปีนี้ก็จะเป็นบวกมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2021 ดังนั้นโดยรวมแล้วภาพของนโยบายการคลังของจีนในปีนี้จะดีกว่าเมื่อเทียบกับปี 2021
แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ซึ่งมีเทศกาลตรุษจีนอยู่ จะมีความต้องการใช้เงินพอสมควร ทั้งยังมีเงินกู้บางส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ทำกับธนาคารกลางจีนจะสิ้นสุดอายุลง และจะมีพันธบัตรบางส่วนที่จะสิ้นสุดอายุลงเช่นกัน ดังนั้นจากนี้ไปจนถึงช่วงก่อนตรุษจีน อาจต้องจับตาว่าธนาคารกลางจีนจะช่วยปล่อยสภาพคล่องออกมาทำให้ระบบการเงินของจีนผ่อนคลายลงหรือไม่
ความน่าสนใจของการลงทุนในจีน ในเชิงกฎเกณฑ์นั้น คาดเดาไม่ได้ แต่จะมีหุ้นหรือกลุ่มการลงทุนบางกลุ่มที่ถูกทำร้ายไปมากแล้วในปี 2021 ดังนั้นในเชิงของความถูกหรือแพง ก็ดูน่าสนใจมากขึ้น ดังนั้นหากยังมีความหวังในจีนอยู่ ภาพนโยบายผ่อนคลายเมื่อเทียบกับปี 2021 ส่วนในเชิงกลุ่มอุตสาหกรรมต้องไปพิจารณาว่า กลุ่มไหนเข้าข่ายเป็นไปตามทิศทางที่รัฐบาลจีนวางไว้ ซึ่งเราอาจจะต้องติดตามไปจนถึงปลายไตรมาสแรกปี 2022 ที่จะมีการแถลงเป้าหมายต่างๆ ทางเศรษฐกิจออกมา ซึ่งก็จะบ่งบอกว่า ทางการจีนมองอย่างไร และจะส่งต่อไปถึงการลงทุนรายอุตสาหกรรมอย่างไร
- ไทย
เราเริ่มเห็นแล้วว่าราคาเนื้อสุกรเด้งขึ้นมาค่อนข้างแรง ไม่นับรวมราคาพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าหลายประเภท ดังนั้นภาพสะท้อนในเชิงเงินเฟ้อของประเทศอื่นที่เจอไปค่อนข้างมากในปี 2021 ส่วนของไทยมาเจอในปี 2022
ดังนั้นจะเห็นว่า ภาพของไทยเอง จะต้องติดตามว่า ประเทศอื่นเคยเจออะไรแล้ว เราอาจจะต้องนับต่อไปอีก 4-5 เดือน ไทยจึงจะเจอ ภาพของเศรษฐกิจไทยจึงเป็นเชิง laggard เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ภาพ laggard นี้ อาจจะหมายถึงนโยบายการเงินด้วย โดยอาจเป็นไปได้ที่ทั้งปีนี้ ภาพนโยบายการเงินของไทยอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็ได้ ถึงแม้เงินเฟ้อจะดีดตัวสูงขึ้น แต่คาดว่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่
เมื่อพิจารณาในเชิงเศรษฐกิจในประเทศที่ไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ก็พบว่า ไทยพยายามจะเปิดประเทศในช่วงปลายปี 2021 โดยเราเห็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก แต่เมื่อเข้าสู่เดือน ม.ค. 2022 ไทยเจอกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามา และรัฐบาลประกาศยกระดับการคุมเข้มโควิดเป็นระดับที่ 4
โดยรวมแล้ว ภาพนโยบายการเงินเอื้ออำนวยก็จริง แต่ในเชิงเศรษฐกิจไทย จะเจอภาวะลุ่มๆ ดอนๆ ที่ขึ้นอยู่กับไวรัสโควิดเป็นหลัก เพราะไทยมีโครงสร้างที่พึ่งพิงการท่องเที่ยว แต่ความน่าสนใจของไทยคือ เป็น laggard ที่ไม่ว่าโลกจะเจออะไรมา ไทยจะเจอล่าช้า 4-5 เดือน จากนั้นจึงจะเจอ ดังนั้นหากเจอภาพร้ายๆ ของโลกในช่วงนี้ ตลาดไทยจะยังไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง แต่คาดว่าจะไปเห็นการตอบสนองในช่วงเดือน มิ.ย. เป็นต้นไป
ด้วยเหตุนี้ ถ้ายังต้องการลงทุนในไทย ก็อยากให้มองไทยเป็น laggard ในช่วงที่ไทยยังไม่รู้สึกอะไรกับสิ่งที่โลกเผชิญอยู่ ก็เป็นจังหวะที่สามารถลงทุนได้
นอกจากนี้ เรายังไม่แน่ใจว่าปลายปีจะมีข่าวการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งในไทยเกิดขึ้น มักจะช่วยทำให้เศรษฐกิจในประเทศดูดีขึ้นเสมอ เป็นปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามต่อไป
ส่วนภาพที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือเรื่องเงินเฟ้อที่เริ่มมาแล้ว มาส่งผลที่ราคาเนื้อสุกรแล้ว และในฐานะนักลงทุน ที่ไม่ว่าจะลงทุนหุ้นรายตัวหรือลงทุนผ่านกองทุน ควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องเงินเฟ้อในไทยมากหน่อย เพราะจะเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะลงทุนในไทยด้วย
ทั้งนี้ สามารถติดตามมุมมองเศรษฐกิจยูโรโซน ญี่ปุ่น และอินเดียต่อได้ ใน BBLAM Economic Outlook 2022 : ตอนที่ 2 ยูโรโซน ญี่ปุ่น อินเดีย ตามลิงค์นี้ >> https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/economic-insights/bblam-economic-outlook-2022-2
นอกจากนี้ยังสามารถติดตามอ่านรายละเอียด รายงานมุมมองเศรษฐกิจครึ่งแรกปี 2022 ของ BBLAM เพิ่มเติมได้ที่นี่ >> https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/economic-insights/bf-economic-review-2022