Economic Research
GDP จีนประจำไตรมาส 4/2021 ขยายตัว 4.0% YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.3% แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ 4.9% ขณะที่เมื่อเทียบรายไตรมาส GDP ขยายตัว 1.6% QoQ (vs. 0.2% ไตรมาสก่อน) ทั้งปี 2021 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 8.1% YoY จากปี 2020 ที่ขยายตัว 2.2%
ทั้งนี้ GDP Growth ในปี 2021 ยังอยู่เหนือเป้าหมายของทางการจีนที่ “อย่างน้อย 6%”
ด้านกิจกรรมเศรษฐกิจเดือน ธ.ค. ภาคการผลิตและส่งออกขยายตัวดีกว่าที่คาด การลงทุนชะลอลง ขณะที่ยอดค้าปลีกและการนำเข้าได้ชะลอลงมาก
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือน ธ.ค. ขยายตัว 4.3% YoY เร่งตัวขึ้นจาก 3.8% ในเดือนก่อน และสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.6% นำโดยรถยนต์ (2.8% vs. -4.7% เดือนก่อน) และถ่านหิน (7.2% vs. 4.6% เดือนก่อน) ที่เร่งตัวขึ้น ขณะที่โทรศัพท์มือถือ (2.8% vs. 3.9% เดือนก่อน), หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (15.1% vs. 27.9% เดือนก่อน), อุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ (12.0% vs. 13.5% เดือนก่อน) และแผงวงจรรวม (1.9% vs. 11.9% เดือนก่อน) ชะลอตัวลง สำหรับตัวเลขรายปี 2021 ขยายตัว 9.6%
ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน ธ.ค. ขยายตัว 1.7% YoY ชะลอตัวลงจาก 3.9% ในเดือนก่อน และต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.7% เป็นอัตราต่ำสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 2020 จากผลกระทบของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ Omicron ภายในประเทศ ในรายสินค้าพบว่าสินค้าที่ยอดขายชะลอตัวลงได้แก่ เครื่องสำอาง (2.5% vs. prev. 8.2%), วัสดุก่อสร้าง (7.5% vs. prev. 14.1%) ส่วนรายการสินค้าที่ยอดขายหดตัวได้แก่ สิ่งทอ (-2.3% vs. prev. -0.5%), อัญมณี (-0.2% vs. prev. 5.7%) ส่วนสินค้าที่ยอดขายขยายตัวดีได้แก่ ของใช้ประเภท Personal Care (18.8% vs. prev. 8.6%)
สำหรับตัวเลขทั้งปี 2021 ยอดค้าปลีกจีนขยายตัวที่ 12.5% หลักๆหนุนโดยสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่รวมรถยนต์ (12.9 %) และยอดสั่งซื้อออนไลน์ (13.4%)
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) เดือน ธ.ค. ขยายตัว 4.9% YoY YTD ชะลอตัวลงจาก 5.2% ในเดือนก่อน ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดที่ 4.8% โดยการลงทุนชะลอตัวลงในทุกหมวดหลักทั้งการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ (4.4% vs. 6.0% เดือนก่อน), การลงทุนในภาคการผลิต (13.5% vs. 13.7% เดือนก่อน) และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (0.4% vs. 0.5% เดือนก่อน) ทั้งนี้การลงทุนชะลอตัวลงทั้งในส่วนของการลงทุนของธุรกิจเอกชน (7.0% vs. 7.7% เดือนก่อน) และการลงทุนของธุรกิจภาครัฐ (SOEs) (2.9% vs. 3.0% เดือนก่อน)
ยอดส่งออก (Exports) เดือน ธ.ค. ชะลอตัวลงเป็น 20.9% YoY จาก 22.0% ในเดือนก่อน แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อยที่ 20.0% โดยยอดส่งออกชะลอตัวลงใน EU (25.6% vs. 33.5% เดือนก่อน), อินเดีย (24.7% vs. 34.0% เดือนก่อน), ญี่ปุ่น (8.6% vs. 12.6% เดือนก่อน), เกาหลีใต้ (27.4% vs. 39.0% เดือนก่อน) และ ASEAN (12.0% vs. 22.3% เดือนก่อน) แต่เร่งตัวขึ้นมากในสหรัฐฯ (21.2% vs. 5.3% เดือนก่อน) ทั้งนี้การส่งออกของจีนขยายตัวในอัตราสองหลัก (Double Digit Growth) เป็นระยะเวลา 15 เดือนติดต่อกันเป็นผลให้ทั้งปี 2021 การส่งออกจีนขยายตัวที่ 29.9% จากปีก่อนที่ 3.6%
ด้านยอดนำเข้า (Imports) ชะลอตัวลงเป็น 19.5% YoY จาก 31.7% ในเดือนก่อน และต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 26.3% เป็นผลให้ทั้งปี 2021 การนำเข้าจีนโตที่ 30.1% จากปีก่อนที่ค่อนข้าง flat สำหรับดุลการค้าเดือน ธ.ค. เกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น USD94.46bn จาก USD71.72 bn ในเดือนก่อน ส่วนดุลการค้าทั้งปี 2021 เกินดุลอยู่ที่ USD676.4bn จากปีก่อนที่เกินดุล USD524bn
ยอดระดมทุนรวมสุทธิ (Total Social Financing) เดือน ธ.ค. อยู่ที่ RMB2,370bn ใกล้เคียงกับตลาดคาดที่ RMB2,400bn และชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก RMB2,614.1bn ในเดือนก่อน โดยทั้งปี 2021 ยอดระดมทุนรวมสุทธิอยู่ที่ RMB31,350bn จากปีก่อนที่ RMB34,863bn
- โดยยอดปล่อยกู้เงินหยวน (New Yuan Loans) อยู่ที่ RMB1,130bn ชะลอตัวลงจาก RMB1,273.2 bn ในเดือนก่อน และต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ RMB1,250bn
- ส่วนยอดออกหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bonds) ชะลอตัวลง (RMB222.5bn vs. RMB410.4 bn ในเดือนก่อน) ขณะที่ยอดออกพันธบัตรรัฐบาล (Government Bonds) เร่งตัวขึ้นเป็น (RMB1,171.8bn vs. RMB815.8 bn เดือนก่อน)
- ด้านสินเชื่อนอกภาคธนาคาร (Shadow Banking Credit) ซึ่งได้แก่ Trust Loans, Entrusted Loans และ Undiscounted Bankers’ Acceptance ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น RMB -499.6bn (vs. RMB -215.5bn เดือนก่อน)
- เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดระดมทุนรวมสุทธิคงค้างในระบบ (Outstanding TSF) เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยเป็น 10.3% YoY (vs. 10.1% เดือนก่อน) สำหรับอัตราการขยายตัวทั้งปีอยู่ที่ 10.3% จากปีก่อนที่ 13.3%
ทิศทางด้านการดำเนินนโยบายการเงินการคลังในปี 2022 คาดจะมีความผ่อนคลายมากขึ้น จากการส่งสัญญาณในการประชุม Central Economic Work Conference (CEWC) ในเดือน ธ.ค. 2021 ที่เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญของความมีเสถียรภาพ (Stability) ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ตั้งแต่อุปสงค์ที่ชะลอตัวจากมาตรการ Zero-Covid, ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ Omicron ตลอดจนปัญหา Supply disruption ที่ยังยืดเยื้อ รวมไปถึงการดูแลปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์
ด้านทิศทางนโยบายการเงินมองว่าทั้งปีนี้จะมีความยืดหยุ่นแบบผ่อนคลายมากขึ้น โดยในวันนี้ (17 ม.ค. 2022) ธนาคารกลางจีน (PBoC) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีลง 10bps เป็น 2.85% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Reverse Repurchase Rate) ระยะ 7 วันลง 10bps เป็น 2.1% ซึ่งนับเป็นการปรับลดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2020 นอกจากนี้ ได้อัดฉีดสภาพคล่องผ่านโครงการ MLF วงเงิน RMB700bn ซึ่งมากกว่ายอดครบกำหนดชำระที่ RMB500bn และอัดฉีดสภาพคล่องผ่าน Reverse repo วงเงิน RMB100bn