สรุปภาพเศรษฐกิจไทยเดือน ธ.ค. 2021

สรุปภาพเศรษฐกิจไทยเดือน ธ.ค. 2021

Economic Research

ธปท. เผยกิจกรรมเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเดือน ธ.ค. 2021 เป็นผลให้ตัวเลขทั้งปี 2021 ดูดีขึ้นกว่าปีก่อน ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron อาจจะกระทบชั่วคราวต่อตัวเลขในเดือน ม.ค.

การบริโภคครัวเรือนหดตัวน้อยลงในเดือน ธ.ค. (-1.2% YoY vs. -3.3% เดือนก่อน) แต่ทั้งปียังแย่

  • เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นในการใช้จ่ายหมวดบริการ (+9.2% vs. +2.0% เดือนก่อน) และหมวดสินค้าคงไม่คงทน (-2.2% vs. -5.0% เดือนก่อน) ท่ามกลางมาตรการ Lockdown ที่ผ่อนปรน (ก่อนการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron) สำหรับตัวเลขทั้งปีหดตัว -1.6% จากปีก่อนที่ -1.3%  

การลงทุนภาคเอกชนแผ่วลงมาอยู่ที่ +4.2% YoY (vs. +5.3% เดือนก่อน)

  • ด้วยอุปสงค์ที่ชะลอลงในหมวดพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้าง (+1.4% vs. +3.1% เดือนก่อน) และการนำเข้าสินค้าทุน (+4.8% vs. +6.9% เดือนก่อน) โดยตัวเลขทั้งปีขยายตัวที่ 7.1% จากปีก่อนที่หดตัว -5.5% หนุนโดยการนำเข้าสินค้าทุนและการซื้อเครื่องจักรในประเทศเป็นหลัก

รายได้เกษตรหดตัว -1.3% YoY น้อยลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ -4.1% YoY ตามการเพิ่มขึ้นของทั้งราคาและผลผลิตสินค้าเกษตร

  • ในรายองค์ประกอบ ราคาสินค้าเกษตรหดตัวน้อยลงจากราคาปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปทาน ลดลง ประกอบกับต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาข้าวยังหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับสต็อกข้าวยังอยู่ในระดับสูง
  • ด้านปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.1% YoY (จากเดือนก่อนที่ -0.9% YoY) โดยเฉพาะผลผลิตอ้อยเนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ประกอบกับที่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร อย่างไรก็ดี ผลผลิตปศุสัตว์ยังลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสุกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค ASF (African Swine Fever)

สำหรับรายได้เกษตรกรทั้งปีขยายตัว 4.5% จากปีก่อนที่ 1.7% โดยได้รับผลบวกจากทั้งปัจจัยด้านราคาและผลผลิต

(ตัวเลขกระทรวงพาณิชย์) ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธ.ค.เพิ่มขึ้น 2.17% YoY (vs. prev. 2.71%) แต่ลดลง -0.38% MoM (vs. prev. 0.28%) ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนธ.ค.  เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.29% YoY (vs. prev. 0.29%) และเมื่อเทียบรายเดือนเพิ่มขึ้น 0.05% MoM (vs. prev. 0.09%)

  • ภาพรวมทั้งปีอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2021 ขยายตัวที่ 1.23% (vs. prev. -0.85% โดยกรอบประมาณการของกระทรวงพาณิชย์อยู่ที่ 0.8 – 1.2%) ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.23% เป็นการขยายตัวเท่ากับปีก่อน ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 2021 ได้แก่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง, Supply Disruption, ราคาผักสดที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะน้ำท่วม ทั้งนี้พบว่าสินค้าบางประเภทราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบเช่น เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน
  • กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2022 จะอยู่ที่ 0.7- 2.4% โดยมีค่ากลางที่ 1.5% โดยที่มองว่า การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อไทยยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวน จำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยด้วยว่าจะได้รับแรงกดดันจาก COVID-19 หรือไม่และคงต้องประเมินกรอบประมาณการเงินเฟ้อไปตามสถานการณ์ในระยะข้างหน้า

(ตัวเลขกระทรวงพาณิชย์) มูลค่าการส่งออกของไทยเดือน ธ.ค. มีมูลค่า 24,930.3 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขยายตัวที่ 24.2% (vs.  16.4% ตลาดคาดและ 24.9% เดือนก่อน) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือนธ.ค.อยู่ที่ 25,284.5 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขยายตัวที่ 33.4% YoY (vs. 18.2% ตลาดคาดและ 19.9% เดือนก่อน) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการขยายตัวเหนือความคาดหมายทั้งฝั่งส่งออกและนำเข้า แต่เนื่องด้วยมูลค่าการนำเข้าสูงกว่าการส่งออก ดุลการค้าไทยเดือน ธ.ค.จึงขาดดุล -354 ล้านดอลลาร์ฯ (จากที่ เกินดุล 19.9 หมื่นล้านดอลลาร์ฯเดือนก่อน)

  • สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศทั้งปี 2021 มูลค่าการส่งออกเติบโตอยู่ที่ 2.71 แสนล้านดอลลาร์ฯ (จากปีก่อนอยู่ที่ 2.31 แสนล้านดอลลาร์ฯ)  หรือขยายตัว 17.1% (จากปีก่อนหดตัว -5.9%)  ส่วนมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 2.68 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ปีก่อนอยู่ที่ 2.06 แสนล้านดอลลาร์ฯ) หรือขยายตัว 29.8% (จากปีก่อนหดตัว -12.7%) เป็นผลให้ดุลการค้าเกินดุลรวมทั้งสิ้น 3.6 พันล้านดอลลาร์ฯ  เป็นการเกินดุลที่ลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เกินดุล 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ

ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจากเดือนก่อน (231k vs. 91k เดือนก่อน):

  • จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการดำเนินมาตรการ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ถึงแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวยังต่ำกว่าช่วงก่อน COVID อยู่มาก เป็นผลให้ทั้งปี 2021 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 427k

ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลง

  • ทั้งนี้ดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ธ.ค. ขาดดุล -1,378 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งปีประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งสิ้น -1.09 หมื่นล้านดอลลาร์

โดยสรุป

กิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้นใน 1Q2022F แม้ว่าการแพร่ระบาดของ Omicron จะส่งผลให้มีการบังคับใช้มาตรการ Lockdown บางส่วนในเดือน ม.ค. แต่ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. ไม่มีจังหวัดไหนที่ถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มและสีแดง รวมทั้งจะมีการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านช่องทาง Test & Go อีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ. ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดและการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าในปีนี้จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวได้ 5 ล้านคน

ในเชิงนโยบาย รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นการบริโภควงเงินรวม 5.3 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1) มาตรการคนละครึ่ง เฟส 4 (3.4 หมื่นล้านบาท) 2) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (8.1 พันล้านบาท) 3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (1.4 พันล้านบาท) และ 4) โครงการเราเที่ยวด้วยกัน (9 พันล้านบาท) ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยหนุนการใช้จ่ายในช่วง 1H2022F โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะช่วยหนุนให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.2% จากกรณีฐาน

กระนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจาก 1) การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจ 2) การยืดเยื้อของปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะกระทบต่อกิจกรรมการผลิตและการส่งออก 3) ปัญหาทางการเมืองจากความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน และ 4) เงินเฟ้อจากด้านต้นทุนที่เร่งสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อ และก่อให้เกิดปัญหาเชิงนโยบายในการรับมือได้ยาก ท่ามกลางความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ