ธนาคารกลางทั่วโลกกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นหลังจากผ่านพ้นการแพร่ระบาดมา ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า กรณีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่รัสเซียโจมตียูเครนนี้ จะทำให้ศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกต้องปรับเปลี่ยนการใช้นโยบายการเงินอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่
ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายต่างเผชิญความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วไปอยู่เหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ในระยะยาวว่าสงครามในพื้นที่ยุโรป จะส่งผลต่อความเชื่อมั่น การลงทุน การค้า และระบบการเงินอย่างไรบ้าง
ธนาคารกลางต่างๆ อยู่ในตำแหน่งที่ต่อสู้กับเงินเฟ้อ ขณะที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ปัจจุบันพวกเขาอาจเห็นการเติบโตที่ลดลง ท่ามกลางราคาที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้แก้ไขง่ายๆ ด้วยการใช้กลยุทธ์นโยบายการเงินแบบมาตรฐาน
นักวิเคราะห์จาก Oxford Economics เขียนรายงานไว้ว่า สำหรับธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักๆ แล้ว สงครามจะทำให้พวกเขาอยู่ในสถานะที่แย่ลงอย่างชัดเจน
เงินเฟ้อที่สูงจะทำให้ธนาคารกลางยากที่จะเพิกเฉยกับแรงกดดันเงินเฟ้อระยะใกล้ แต่ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็ต้องระมัดระวังการพัฒนาล่าสดที่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อที่ต่ำมากในปี 2023 หรือปี 2024 เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง
ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่สูงในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังฤษ ไม่น่าจะหยุดแนวทางที่ดำเนินการอยู่เหมือนกันในตอนนี้คือ การหันไปใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด