สรุปความ
Economic Research
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ข้อมูลเศรษฐกิจไม่ใช่ประเด็นหลักที่ต้องติดตาม เนื่องจากตัวเลขออกมาดี โดยประเด็นหลักที่ต้องให้ความสนใจคือ ประเด็นเชิงการเมืองและความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์มากกว่า
BBLAM ขอประมวลภาพสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตให้เห็นภาพก่อน โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2018 คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ต่อมาในปี 2019-2021 ก็เกิดประเด็นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนในภาคอุปทาน หรือ supply shortage เกิดปัญหาหยุดชะงักในภาคอุปทาน หรือ supply disruption รวมทั้งเกิดเรื่องปัญหาคอขวดในภาคโลจิสติกส์ ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง
จากประเด็นเหล่านี้อง จึงนำไปสู่เรื่องเงินเฟ้อ แต่ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ก็ยังมีเรื่องนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาช่วยไว้อยู่ ส่วนอีกประเด็นที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันก็คือ เรื่องสภาวะภูมิอากาศ โดยเกิดพายุที่สหรัฐฯ
ส่วนในปี 2022 สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจไม่เหมือนเดิมแล้ว มีเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมกับเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งเวลามีความไม่แน่นอน ก็จะเกิดประเด็นเรียกว่า uncurtainty
โดยรวมแล้วเศรษฐกิจมหภาคเวลานี้มีโจทย์เรื่องเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น แถมการเมืองยังมีความไม่แน่นอนอีก ซึ่งในโจทย์แบบนี้ BBLAM ขอนำทางเลือกมาให้ทุกคนพิจารณาว่าควรจะทำเช่นไรดี ดังนี้
- Buy on Dip คือ ราคาตกแล้วเข้าไปซื้อ
- Country/Sector Rotation คือ เปลี่ยนประเทศหรือกลุ่มที่เข้าไปลงทุน
- Asset Allocation คือ จัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย มีหลายๆ อย่างอยู่ในตะกร้าการลงทุนมากขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยการทำเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้พอร์ตลงทุนเป็นบวกได้ทั้งหมดหรือลบทั้งหมด แต่หมายความว่าเราจะมีสินทรัพย์ทุกประเภทที่ตอบรับเศรษฐกิจมหภาคในทุกรูปแบบได้
- อยู่เฉยๆ คือ ถ้ารับความเสี่ยงไม่ได้เลย ก็ขอให้นั่งนิ่งๆ นอนหลับไปสักพักก่อน ซึ่งบางคนในช่วงโควิด-19 ก็ปิดพอร์ตนอนหลับไปยาวๆ แล้วพอผ่านมาถึงเวลานี้พอร์ตก็ยังเป็นบวกอยู่
โดยรวมแล้วทางเลือกทั้งหมดนี้ ใช้เป็นกลยุทธ์ได้ แต่เราไม่สามารถระบุได้ว่าทางเลือกไหนดีที่สุด เพราะแต่ละทางเลือกก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ ขอนำเสนอศัพท์ทางเศรษฐกิจทิ้งท้ายไว้คือ Opportunity Cost หรือค่าเสียโอกาส คือ มูลค่าของสิ่งที่ไม่ได้เลือก
สมมติชอบกลุ่มธุรกิจหนึ่งมาก แล้วมองว่าไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็จะอยู่กับกลุ่มนั้นต่อไป แต่เมื่อภาพเศรษฐกิจมหภาคเปลี่ยนไป กลุ่มนั้นไม่สามารถทำผลตอบแทนให้ได้เหมือนเดิม ค่าเสียโอกาสของการตัดสินใจเช่นนี้ คือ การไม่เลือกกลุ่มอื่น แล้วกลุ่มอื่นให้ผลตอบแทนมากกว่าคืออาจจะให้ผลตอบแทน 10-20% ไปแล้ว ดังนั้นทุกทางเลือกมีค่าเสียโอกาสอยู่ ทางเลือกบางอย่างถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง ทางเลือกบางอย่างถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ
ก่อนเราจะเลือก เราต้องชั่งน้ำหนักด้วยว่า สิ่งที่เราไม่ได้เลือกให้ผลตอบแทนมากหรือน้อยกว่าสิ่งที่เราเลือก หากยังคิดว่าสิ่งที่เราเลือกน่าจะให้ผลตอบแทนได้มากที่สุด นั่นคือสิ่งที่เราคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว ณ เวลานั้น ซึ่งการตัดสินใจ ณ เวลาใด เวลาหนึ่งไม่ได้แปลว่าถูกต้องเสมอไป ดังนั้นจึงต้องประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา
เราสามารถติดตามข่าวสารได้ จดจ่อกับข่าวสงครามได้ แต่นั่นคือเรื่องของประเทศอื่น สิ่งที่เราต้องกังวลด้วยคือเงินในกระเป๋า เงินในพอร์ตลงทุนของเรา ดังนั้นชั่งน้ำหนักให้ดีในการใช้เวลาดูข่าวกับการใช้เวลาจัดระเบียบกลยุทธ์การลงทุนของตัวเอง ทางเลือกไหนที่มองว่าค่าเสียโอกาสน้อยที่สุดควรไป แต่ทางเลือกไหนมีค่าเสียโอกาสมาก ควรถอยกลับมาตั้งหลักก่อนแล้วคิดดูอีกครั้ง