BBLAM Monthly Economic Review – สถานการณ์รัสเซียและยูเครนทำให้เกิดอะไรบ้างกับราคาสินค้า

BBLAM Monthly Economic Review – สถานการณ์รัสเซียและยูเครนทำให้เกิดอะไรบ้างกับราคาสินค้า

สรุปความ

Economic Research

ประเด็นที่น่าจับตาเกี่ยวกับเศรษฐกิจยูโรโซน ญี่ปุน และอินเดียในครั้งนี้ คือเรื่องผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีต่อราคาสินค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงทิศทางนโยบายการเงินของแต่ละประเทศด้วย

  • ยูโรโซน

ผลของสงคราม ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ทั้งราคาก๊าซและอาหาร โดยเงินเฟ้อของยูโรโซนในเดือนมีนาคม 2022 ดีดตัวขึ้นมา 7.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และก็อาจจะยังไม่ใช่จุดสูงที่สุดอยู่ดี มีความเป็นไปได้ที่ใน 1-2 เดือนข้างหน้า เราอาจจะเห็นตัวเลขเงินเฟ้อปรับขึ้นไปได้อีก หากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังไม่จบ

ในส่วนของมุมมองธนาคารกลางยุโรป (ECB) เวลานี้ มีการปรับประมาณการเงินเฟ้อของยูโรโซนในปี 2022 ขึ้นจาก 3.2% เป็น 5.1% โดยมองว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้เงินเฟ้อจะมีแนวโน้มค่อยๆ ชะลอตัวลง

การประชุมของ ECB ในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา มองว่า เงินเฟ้ออีก 2 ปีข้างหน้า ก็จะอยู่ที่ราว 2% แม้จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดิมมองไว้ 1.8% มาอยู่ที่ 2.1% และ 1.9% แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ สัญญาณการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดอัตราเงินเฟ้อในระยะกลางและระยะยาว และจะเป็นตัวที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งเวลานี้สัญญาณยังไม่ชัดเจนนัก

สิ่งที่ ECB ให้สำคัญเวลานี้เป็นหลัก คือ การรักษาสมดุลของนโยบายไม่ให้มีท่าทีที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น และพยายามบริหารจัดการเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 2%

ส่วนการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ตลาดค่อนข้างให้ความสนใจจากการประชุม ECB ในเดือนมีนาคม ก็คือ การดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ ด้วยการซื้อสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือ QE ที่ ECB จะมีการชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยจะทำเป็นขั้นบันไดทีละไตรมาส ค่อยๆ ปรับลดลงเป็นรายไตรมาส แต่ว่ามีการปรับให้เร็วขึ้น คือปรับลดลงเป็นรายเดือนเลย โดยในไตรมาส 3 จากเดิมที่จะมีการเข้าซื้อ QE ที่ 30,000 ล้านยูโร ก็จะปรับลดลงมาเหลือ 20,000 ล้านยูโร แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นหลัก

ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ส่งผลลบให้เศรษฐกิจซึมยาว ECB ก็อาจกลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงินได้เพิ่มเติมอีกครั้ง ก็คือ เปิดทางให้นโยบายการเงินมีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง ฉะนั้นในสถานการณ์ที่ผันผวนสูงเช่นนี้ นักลงทุนก็ต้องมีความระมัดระวังด้วย

BBLAM มองว่า มีโอกาส 30-40% ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ recession ได้ ซึ่งยังไม่ใช่กรณีพื้นฐานที่เรามองไว้ แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ เศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัวจากโควิด ต้องมาสะดุดลง และอาจชะลอตัวลงกว่าที่เคยคาดไว้ BBLAM จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ปี 2022 ของยูโรโซนลง จากเดิมมองว่าจะเติบโต 4.2% ก็ปรับลดลงมาเหลือ 2.8%

  • ญี่ปุ่น

หากเราติดตามข่าวในญี่ปุ่นก็จะพบว่า สินค้าในญี่ปุ่นหลายรายการมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น จากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลพวงจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน

โดยปกติผู้ประกอบการญี่ปุ่นจะไม่ค่อยมีการปรับขึ้นราคาสินค้าบ่อยครั้งนัก แต่ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นจึงต้องปรับราคาขึ้น และในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า เราคงจะได้เห็นอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นไปแตะระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่วนหนึ่งก็มาจากราคาสินค้าหลายตัวที่ปรับขึ้นนี่เอง ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา แต่ BBLAM มองว่าเงินเฟ้อคงแตะ 2% ในช่วงสั้นๆ ก่อนจะปรับลดลงมา

อีกประเด็นที่เป็นแรงผลักดันราคาสินค้าในญี่ปุ่นคือ เงินเยนที่อ่อนค่าลง เพราะเมื่อเงินเยนอ่อนค่า จะทำให้ราคาสินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าแพงขึ้น แล้วก็จะทำให้เงินเฟ้อญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นด้วย แม้โดยปกติเงินเยนอ่อนค่าจะเอื้อประโยชน์กับภาคการส่งออก แต่ถ้าเงินเยนอ่อนค่ามากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ผู้บริโภคที่กำลังซื้อจะต้องลดลงจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นหลายรายการ หรือว่าบริษัทผลิตรถยนต์ที่ปกติเงินเยนออกจะได้ประโยชน์ เพราะมีการส่งออกรถยนต์มาก แต่ในช่วงนี้ต้นทุนวัตถุดิบหลายตัวเพิ่มขึ้น ก็กลับกลายเป็นผลเสีย ดังนั้นเงินเยนที่อ่อนค่าแบบนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ตลาดชอบนัก

เมื่อถามว่าทำไมเงินเยนจึงอ่อนค่ามาก ในภาวะที่ตลาดเผชิญกับข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งที่โดยปกติแล้วเมื่อมีข่าวเกี่ยวกับสงคราม เงินเยนมักจะแข็งค่า แต่ครั้งนี้กลับอ่อนค่า หลักๆ แล้วก็มาจาก 2 ประเด็น

1.ปัจจัยพื้นฐาน – ญี่ปุ่นมีการนำเข้าน้ำมันค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นหลังราคาน้ำมันแพงขึ้น ดุลการค้าของญี่ปุ่นก็มีการขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินไหลออก

2.ความแตกต่างในการดำเนินนโยบายการเงินระหว่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) กับ BOJ – เป็นประเด็นสำคัญในช่วงที่ผ่านมา เพราะ BOJ เมื่อเทียบกับธนาคารกลางประเทศอื่นที่พัฒนาแล้ว BOJ ก็มีแนวโน้มปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นช้าที่สุดเมื่อเทียบกับ FED หรือ ECB เนื่องจากเงินเฟ้อญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้สูงมาก แต่ว่าท่าทีนี้ก็ยิ่งดูแตกต่างมากขึ้น เมื่อ FED ดูมีท่าที hawkish มากขึ้น คือจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน BOJ กลับมีนโยบายการเงินที่สวนทาง คือ เมื่อผลตอบแทนพันธบัตร หรือ bond yield ปรับเพิ่มขึ้นจนใกล้แตะขอบบนของกรอบที่กำหนดไว้คือ 0.25% ทาง BOJ ก็ส่งสัญญาณว่าจะเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกด bond yield ไว้ ก็คือ ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทิศทางนโยบายการเงินยิ่งสวนทางกัน ซึ่งประเทศที่นโยบายการเงินมีความผ่อนคลายมากกว่า ก็มีแนวโน้มที่ค่าเงินของประเทศนั้นจะอ่อนค่ามากกว่า

หลังจากนี้ หากเราเห็น bond yield ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอีก และ BOJ ยิ่งมีการเข้าซื้อพันธบัตรมากขึ้นไปอีก เราก็อาจจะเห็นเงินเยนอ่อนค่ามากไปกว่านี้อีก แต่การที่เงินเยนอ่อนค่ามากเกินไปก็มีผลเสีย โดยเฉพาะถ้าเงินเยนอ่อนค่าทะลุ 130 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นก็เป็นไปได้ที่ BOJ อาจจะออกมาประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินบางส่วนเพื่อลดแรงกดดันของค่าเงินลง

สำหรับข่าวดีของตลาดญี่ปุ่นในช่วงสั้นๆ หลังจากนี้คือ การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 กรกฎาคม 2022 

การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ก็มาจากการที่รัฐบาลมีท่าทีความกังวลต่อผลกระทบเงินเยนอ่อนค่าที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นหลังจากนี้ไปจนถึงการจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลก็น่าจะประกาศมาตรการออกมาเป็นระลอก และอาจประกาศงบประมาณเพิ่มเติมได้เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นข่าวดีสำหรับตลาดญี่ปุ่นในระยะสั้นๆ ได้

  • อินเดีย

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อ และค่าเงินของอินเดีย เนื่องจากอินเดียนำเข้าน้ำมันถึง 85% ของการใช้น้ำมันทั้งหมดในอินเดีย เพราะฉะนั้นการที่เงินเฟ้อเพิ่มสูง ก็มักเป็นสิ่งที่ตลาดอินเดียกังวลและกระทบกับตลาดในช่วงที่ผ่านมา แต่ในวิกฤตินี้ อินเดียก็ยังมีโอกาสที่จะลดผลกระทบนี้ได้ คือ

1.อินเดียจะมีการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นจากรัสเซีย จากปัจจุบันสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันรัสเซียอยู่ที่ 2.4% ก็อาจจะนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 6.6% นอกจากนี้ยังเป็นการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาถูกกว่าตลาดด้วย 

2.โอกาสจากการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น เพราะอุปทานที่หายไปจากตลาด เนื่องจากผู้ผลิตหลักอย่างรัสเซียและยูเครนทำสงครามกัน ทำให้อินเดียมีแนวโน้มจะเข้าไปทดแทนส่วนของอุปทานที่หายไปของตลาดโลก ดังนั้นจึงเป็นอีกส่วนที่น่าจะได้ประโยชน์

แม้ทั้ง 2 ประเด็นนี้ อาจจะไม่ได้มีผลขนาดใหญ่มากถึงขั้นทำให้ดุลการค้าของอินเดียขาดดุลลดลงมาก แต่อย่างน้อยก็ยังช่วยลดผลกระทบได้ระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ในการประชุมครั้งล่าสุดของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2022 ได้มีการปรับประมาณการเงินเฟ้อขึ้นถึง 1.2% หรือปรับเพิ่มจาก 4.5% เป็น 5.7% และ RBI ก็ดูมีท่าที hawkish มากขึ้น เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อลงไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจในประเทศ แต่หลักๆ แล้วจะเน้นที่การลดสภาพคล่องในตลาดก่อน แล้วค่อยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่ง BBLAM มองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะเป็นในช่วงปลายปี 2022 หรือต้นปี 2023 

สำหรับภาพเศรษฐกิจอินเดียในช่วงนี้ก็ยังดูผสมผสาน คือ เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวจากการระบาดระลอกที่ 3 ของโควิด แล้วก็เริ่มมีการประกาศเปิดประเทศแล้ว และก็เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศลดลงแล้ว แต่ก็มาเจอราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น กดดันผู้บริโภคและผู้ผลิต แต่ตราบใดที่ RBI ส่งสัญญาณว่าจะดูแลเงินเฟ้อ แต่ยังไม่ใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากเกินไป ก็น่าจะยังเป็นข่าวดีของตลาด เพราะก่อนหน้านี้ตลาดมีความกังวลว่า RBI อาจจะประเมินเงินเฟ้อต่ำเกินไป แล้วทำให้ตลาดกังวลว่าอาจจะจัดการกับเงินเฟ้อได้ช้าเกินไป แต่การประชุมครั้งล่าสุดก็ทำให้ตลาดค่อนข้างพอใจกับการดำเนินนโยบายและการที่ RBI ปรับประมาณการเงินเฟ้อขึ้น

สรุป 

โดยรวมเศรษฐกิจเวลานี้ เศรษฐกิจยูโรโซน เริ่มมีความเสี่ยงเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่นักลงทุนจับตามองมากขึ้น แม้ความเป็นไปได้จะไม่ได้สูงมาก แต่ ECB มีมุมมองที่ยืดหยุ่นมากขึ้นกับประเด็นนี้ คืออาจจะกลับขาไปผ่อนคลายนโยบายการเงินก็ได้ ถ้าผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เศรษฐกิจซบเซายาวนานกว่าที่เคยคาดไว้

ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผลของราคาพลังงานเริ่มสะท้อนมายังราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะฉะนั้นเราอาจได้เห็นเงินเฟ้อแตะ 2% ได้ในระยะข้างหน้า ด้านเงินเยนที่อ่อนค่าลงมาจากทิศทางนโยบายการเงินของ FED กับ BOJ ยิ่งแตกต่างกัน ก็ทำให้ตลาดยิ่งจับตาว่าหลังจากนี้ BOJ จะทำอย่างไรกับประเด็นที่ bond yield ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น BOJ จะยังเข้าซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ yield อยู่ในกรอบต่อไปรึเปล่า ซึ่งก็จะส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของตลาด

ขณะที่ เศรษฐกิจอินเดียเองในวิกฤติก็ยังมีโอกาส จากการส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้น และการนำเข้าน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย แต่ผลกระทบจากราคาน้ำมันก็ยังมีในระดับสูงอยู่ โดยเฉพาะต่ออัตราเงินเฟ้อ จนในการประชุมครั้งล่าสุดของ RBI ก็ต้องมีการเปลี่ยนท่าทีของนโยบายมาให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อมากขึ้น

ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับนักลงทุน หนีไม่พ้นวิกฤติยูเครน-รัสเซียที่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง เนื่องจากมีความผันผวนสูง นอกจากนี้ก็ยังมีการเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 เมษายน 2022 ผลของการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร จะส่งผลให้ความเสี่ยงทางการเมืองในยูโรโซนสูงขึ้นหรือไม่ เราจะมาสรุปให้ฟังกันในการสรุปเศรษฐกิจรอบถัดไป