โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM
คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานในช่วงนี้ บอกได้เลยว่าต้องเจอกับศึกรอบด้าน กว่าจะได้งานทำก็ยาก เรียนรู้งานใหม่ก็ยาก เพราะการทำงานปัจจุบันเน้นการใช้เทคโนโลยี ทำให้ขาดการปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เรียกได้ว่า ในแง่มุมของการทำงานนั้นไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด แถมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี
อย่างตอนนี้เราก็เจอกับสภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาก และสูงขึ้นเร็วชนิดที่ว่าเงินเดือนขึ้นตามไม่ทัน ทำให้ราคาสินค้าและบริการที่ซื้อกินซื้อใช้แพงขึ้น
แล้วอย่างนี้ คนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ อย่างเรา หากคิดจะลงทุนควรจะวางแผนอย่างไรดี?
อย่างแรกที่ต้องทำก่อนจะลงทุนคือ การวางแผนสภาพคล่อง ให้มีเงินพอกินพอใช้ในแต่ละเดือน
ยิ่งในยุคเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง ก็อาจจะทำให้เรามีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่มากขึ้น ทั้งที่เราก็ใช้ชีวิตแบบเดิม ยกตัวอย่างค่าไฟ ที่อยู่ดีๆ ค่า ft ก็ปรับสูงขึ้น เปิดแอร์ตัวเดิม ระยะเวลาเท่าเดิม แต่ค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น
หลังจากที่วางแผนสภาพคล่องเรียบร้อยแล้ว เราจึงค่อยจัดสรรเงินส่วนหนึ่งมาออมและอีกส่วนหนึ่งมาลงทุน แต่สิ่งหนึ่งที่วัยทำงานสงสัยก็คือ เราจะลงทุนอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่า ถ้าลงทุนแล้วผลตอบแทนได้น้อยกว่าเงินเฟ้อ นั่นก็หมายความว่า มูลค่าเงินลงทุนของเรา นอกจากจะไม่งอกเงยแล้วยังติดลบหรือถูกลดอำนาจในการซื้อไปอีกต่างหาก
คำตอบของข้อสงสัยนี้จึงอยู่ที่ว่า เราจะลงทุนในสินทรัพย์อะไร? ที่จะสามารถให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้ ซึ่งก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า เงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ที่เท่าไร? จะได้หาสินทรัพย์มาลงทุนได้อย่างเหมาะสม
จากข้อมูลพบว่า เงินเฟ้อไทยเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 2% กว่าๆ ถึง 3% ต่อปี ดังนั้น สินทรัพย์เพื่อการลงทุนอย่างเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ สลากหรือพันธบัตรรัฐบาลนั้น ในปัจจุบันให้อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนไม่เพียงพอที่จะชนะเงินเฟ้อได้ จึงทำให้นักลงทุนวัยเริ่มต้นทำงานที่ต้องการหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนสูงๆ หันไปลงทุนในหุ้น กองทุนรวมหุ้น รวมถึงสกุลเงิน
ดิจิทัล ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดี และสามารถสร้างอิสรภาพทางการเงินให้กับเราได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ต้องอย่าลืมว่าสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูง ก็จะมีความเสี่ยงจากการลงทุนด้วยเช่นกัน ดังคำกล่าวที่ว่า High risk, High expected return เสี่ยงสูงไม่ได้การันตีว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูงตามที่หวังเสมอไป เพราะจะมีเรื่องความผันผวนของราคาในแต่ละช่วงเวลาด้วย
ดังนั้น หากเป้าหมายในการลงทุนของเราคือ การลงทุนเพื่อชนะเงินเฟ้อ อย่างแรกที่ต้องทำคือ เลือกสินทรัพย์ในการลงทุนให้เหมาะสม โดยคำว่าเหมาะสมที่ว่าก็คือ สามารถคาดหวังผลตอบแทนได้มากกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งในที่นี้ก็ควรที่จะมากกว่า 3% ต่อปี
สำหรับสินทรัพย์ในการลงทุนของวัยเริ่มต้นทำงาน อยากแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวม เพราะใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก มีมืออาชีพที่มีประสบการณ์ช่วยบริหารจัดการให้ และไม่ต้องใช้เวลาในการติดตามการลงทุนมากนัก ทำให้เราสามารถโฟกัสการทำงานได้อย่างเต็มที่มากกว่า โดยอาจพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมประเภทหุ้น ซึ่งในปัจจุบันตลาดหุ้นขับเคลื่อนไปตามเทรนด์โลก เราก็อาจพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ อย่างกองทุนของ BBLAM ที่ชื่อว่า B-INNOTECH หรือกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกที่ชื่อว่า B-GLOB-INFRA เป็นต้น
นอกจากนี้ เราควรที่จะกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ด้วยการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท รวมไปถึงสินทรัพย์ประเภทเดียวกันแต่ลงทุนอยู่ในคนละภูมิภาค เรียกว่าเป็นการจัดพอร์ตลงทุน (Asset Allocation) โดยสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละอย่าง จะมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่ต้องการ ผลตอบแทนที่คาดหวัง ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล รวมถึงระยะเวลาในการลงทุน ซึ่งถ้าหากเราสามารถบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ทั้งหมดนี้ให้สอดคล้องกันได้และมีความมุ่งมั่น รวมถึงมีวินัยในการลงทุน เราทุกคนก็สามารถที่จะลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้อย่างแน่นอน