เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2022 ขยายตัว 2.2% YoY เร่งขึ้น จากไตรมาสก่อนที่ 1.8% และเมื่อ ปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปีก่อน 1.1% QoQ sa ชะลอจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 1.8% แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2022 สภาพัฒน์ฯคาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.5 – 3.5% in-line ไปกับการประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท.
ในรายองค์ประกอบ ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (3.9% YoY vs prev 0.4%) หนุนจากการใช้จ่ายในทุกหมวด ทั้งหมวดบริการ สินค้าทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นสินค้าไม่คงทน กึ่งคงทน และคงทน ด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัว (2.9% YoY vs prev -0.8%) หนุนจากการลงทุนในหมวดเครื่องจักร ขณะที่การส่งออก สินค้าชะลอตัว (14.6% YoY vs prev 21.3%) และการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง (-4.7% YoY vs prev 1.7%) ตามการลงทุนทั้งจากรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาเกษตรกรรม (หนุนจากปัจจัยทั้งด้านราคาและผลผลิต โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดีได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา เนื้อสุกร อ้อย และไก่เนื้อ)การป่าไม้และการประมงกลับมาขยายตัว สาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สาขาการขายส่ง ขายปลีก และการซ่อมฯ และสาขาการไฟฟ้าและก๊าซฯ ชะลอตัว ด้านสาขาการก่อสร้างลดลงต่อเนื่อง in-line ไปกับการลงทุนภาครัฐ
ประมาณการจากสภาพัฒน์ฯ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2022 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.5 – 3.5% in-line ไปกับการประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. ที่ 3.4% เมื่อเดือนมี.ค. ปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในช่วง 4.2 – 5.2% (ธปท. 4.9%) และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุล -1.5% ของ GDP (ธปท. -6.0% ของ GDP)
นัยต่อการลงทุน ปัจจัยเชิงการใช้จ่ายภายในประเทศได้รับอานิสงส์ที่ดีในช่วงต้นปี การท่องเที่ยวเห็นการ Pick-up ที่ชัดเจน ขณะที่ส่วนของการลงทุนภาครัฐแผ่วไปค่อนข้างมาก มองไปข้างหน้าในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 อาจจะต้องลุ้นว่าการบริโภคภายในประเทศจะถูกกระทบจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันมากน้อยแค่ไหน แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีอาจจะยังส่งอานิสงส์เชิงบวกให้กับกลุ่มการเดินทาง (Commute) และที่พักอาศัยในเมืองได้ เมื่อการเดินทางและทำงานในเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนการลงทุนภาครัฐที่หดตัวอาจจะ Ramp-up กลับมาเมื่อใกล้สิ้นสุดปีงบประมาณคลังปีนี้ สำหรับการท่องเที่ยวน่าจะเห็นความคึกคักได้มากกว่านี้ในช่วงเริ่ม Hi-season ของประเทศไทยในช่วงเข้าไตรมาสสุดท้ายของปี ยาวต่อไปถึงช่วงสงกรานต์ปีหน้า (Hi-season คือช่วงต.ค.-เม.ย.) ซึ่งหากจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่ดี อาจจะเห็น ธปท.ปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างประเทศ (ที่ปัจจุบันมองว่า 5.6 ล้านคน) ขึ้นในการประมาณการเศรษฐกิจครั้งถัดๆไป