Economic Research
ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Repo Rate) ขึ้น 50bps สู่ระดับ 4.90% ในการ ประชุมเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 ในระยะเวลาราว 1 เดือน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 พ.ค. RBI ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 4.0% เป็น 4.40% ในการประชุมนอกรอบ และเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีหลังจากการปรับลดในเดือนพ.ค. 2020 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติ COVID-19
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของอินเดียอยู่เหนือกรอบบนเป้าหมายเงินเฟ้อของ RBI ที่ 6% เป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกันแล้ว โดยผู้ว่า RBI กล่าวว่า ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectations) และกระตุ้นให้เกิด Second-round Effects หรือการส่งผ่าน เงินเฟ้อจากหมวดพลังงานไปยังหมวดต่าง ๆ รวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานเป็นวงกว้าง พร้อมกับเน้นย้ำความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพด้านราคาเพื่อหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
Implications for markets
ตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อวานนี้หลัง RBI ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยสภาพคล่องที่ลดลงส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากหลายธุรกิจเผชิญความท้าทายในการบริหารต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ เราคาดว่า RBI มีแนวโน้มปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 1-2 ครั้งในปีนี้ ทำให้ ณ สิ้นปี 2022 อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ราว 5.5-6.0% นอกจากนี้ ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักอื่นๆ ของโลกก็เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นอินเดียด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องระมัดระวังการลงทุนในตลาดอินเดียในระยะสั้นนี้