เงินเฟ้อยูโรโซนพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี

เงินเฟ้อยูโรโซนพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี

ภาวะเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน ที่ยูโรโซน เพิ่มขึ้นสูงสุด แตะที่ร้อยละ 8.6 สูงสุดในรอบ 23 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1999

สำนักงานสถิติยุโรป รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อประจำปีในยูโรโซน หรือกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดร้อยละ 8.6 เมื่อเดือนมิถุนายนแบบปีต่อปี และการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคา ผู้บริโภคใน 19 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรได้ทำให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ที่ร้อยละ 8.1 ถือเป็นภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุด นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลเมื่อปี 1999 ขณะที่ราคาพลังงานพุ่งขึ้นร้อยละ 41.9 ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ที่ร้อยละ 39.1 เช่นเดียวกับราคาอาหาร เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ และบุหรี่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จากเดิมร้อยละ 7.5 ในเดือนพฤษภาคม โดยการที่ราคาอาหารและพลังงานพุ่งพรวด เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

นอกจากนี้ ในวันแรกของการประชุมนัดพิเศษของสภายุโรป เมื่อวันที่ 30 และ 31 พฤษภาคม บรรดาผู้นำสหภาพยุโรป หรืออียู เห็นชอบให้คว่ำบาตรรัสเซียครั้งที่ 6 รวมถึงห้ามนำเข้าน้ำมันและสินค้าต่างๆ เกี่ยวกับปิโตรเลียม โดยอียูที่มีสมาชิก 27 ประเทศ ตัดสินใจคว่ำบาตรนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียถึงร้อยละ 90 ในช่วงสิ้นปีนี้ เพื่อทำลายเศรษฐกิจรัสเซีย แม้ที่ผ่านมา จะพึ่งพาน้ำมันรัสเซียร้อยละ 30 แต่การคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะที่บาร์เรลละ 120 ดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 3 เดือน และการที่ราคาพลังงานพุ่งขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในเขตยูโรพุ่งขึ้นไปด้วย

ตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนในเดือนมิถุนายน ได้สร้างกดดันให้กับธนาคารกลางยุโรป เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนนี้ ก่อนหน้านั้น ธนาคารกลางยุโรป ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากการปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทะลุระดับร้อยละ 2 โดยไม่ได้ใช้มาตรการที่เข้มงวด ซึ่งธนาคารกลางยุโรป ยอมรับว่า ปัญหาเงินเฟ้อของเขตยูโร เกิดขึ้นจากราคาต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นหลังจากรัฐบาลในหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ ว่า ธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ในการประชุมนโยบายการเงินที่มีขึ้นในกลางเดือนนี้

ที่มา: รอยเตอร์ส