กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (จี7) กำลังจัดทำกลไกที่ซับซ้อน เพื่อจำกัดราคาน้ำมันของรัสเซีย เพื่อกดดันเครื่องจักรสงครามในยูเครนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อย่างไรก็ดี บทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ซึ่งรวมถึง นาจาชา คาเนวา ระบุว่า เนื่องจากรัฐบาลมอสโกมีงบประมาณที่แข็งแกร่ง รัสเซียสามารถลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยไม่ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากเกินไป
อย่างไรก็ดี การลดกำลังการผลิตมากขนาดนั้น อาจเป็นหายนะอย่างใหญ่หลวงสำหรับชาติอื่นๆ โดยนักวิเคราะห์ เจพีฯ ระบุว่า การลดกำลังผลิตของรัสเซีย 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดลอนดอนพุ่งขึ้นไปถึง 190 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในสถานการณ์ที่เลวร้ายสุด หากรัสเซียลดกำลังการผลิต 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็อาจหมายถึงว่า ราคาน้ำมันดิบจะพุ่งสูงอย่างรุนแรงมากถึง 380 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นักวิเคราะห์ของเจพีฯ ระบุว่า ความเสี่ยงที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนมากที่สุดกับการควบคุมราคา คือ รัสเซียอาจเลือกที่จะไม่เข้าร่วม และตอบโต้กลับด้วยการลดการส่งออกแทน และมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลรัสเซียอาจตอบโต้ด้วยการลดกำลังการผลิต เพื่อหาทางสร้างความเดือดร้อนให้ชาติตะวันตก โดยมองว่า การตึงตัวของตลาดน้ำมันโลกในขณะนี้อยู่ข้างรัสเซีย
ในขณะเดียวกัน รัสเซียได้เข้าฮุบโครงการก๊าซและน้ำมันซัคคาลิน-2 ซึ่งบริษัท เชลล์ ถือหุ้นอยู่ 27.5% หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ลงนามในกฤษฎีกาเพื่อเข้าควบคุมโครงการก๊าซและน้ำมันขนาดใหญ่นี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
การเคลื่อนไหวนี้ อาจบีบให้เชลล์ มิตซุย และมิตซูบิชิต้องทิ้งการลงทุนในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจของสงครามยูเครนกำลังแพร่กระจาย
เชลล์ กล่าวว่า ได้รับรู้เรื่องกฤษฎีกาแล้วและกำลังประเมินผลกระทบอยู่
ตามกฤษฎีกาที่ปูตินได้ลงนามบริษัทใหม่แห่งหนึ่งจะเข้ายึดครองสิทธิ์และภาระผูกพันของโครงการ “การลงทุนพลังงานซัคคาลิน”
เชลล์ ได้กล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ว่า จะขายการลงทุนในรัสเซีย เพราะความขัดแย้งในยูเครนซึ่งรวมถึงโครงการซัคคาลิน-2 ที่อยู่ในบริเวณตะวันออกไกลของรัสเซีย และในเดือนเมษายน บริษัทได้กล่าวว่า จะได้รับผลกระทบจากการถอนตัวออกจากรัสเซีย 3,800 ล้านปอนด์
โครงการซัคคาลิน-2 ถือหุ้นโดยบริษัท ก๊าซพรอม 50% และป้อนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้าสู่ตลาดโลกประมาณ 4% ตามกฤษฎีกาที่ปูตินลงนาม ก๊าซพรอมจะถือหุ้นในบริษัทใหม่ต่อไป แต่ผู้ถือหุ้นรายอื่นจะต้องยื่นขอต่อรัฐบาลรัสเซียเพื่อถือหุ้นในบริษัทใหม่ภายใน 1 เดือน และจากนั้นรัฐบาลรัสเซียจะตัดสินใจว่า จะอนุญาตให้ถือหุ้นต่อไปหรือไม่
เดลี่ เทเลกราฟและรอยเตอร์ รายงานว่า เชลล์ได้หารือกับผู้ซื้อหุ้นโครงการนี้หลายราย ซึ่งรวมถึงจากอินเดียและจีน ขณะเดียวกัน เบน แวน เบอร์เดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเชลล์ กล่าวว่า บริษัทกำลังสร้างความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนการที่จะถอนตัวจากการร่วมทุนในรัสเซีย
ธีโอ เลกเก็ตต์ ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจของบีบีซี กล่าวว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผลกระทบน่าจะมีต่อญี่ปุ่นมากสุด เพราะได้เกี่ยวข้องกับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างหนัก บริษัทต่างชาติสามราย คือ เชลล์ มิตซุย และมิตซูบิชิ ถือหุ้นจำนวนมากในโครงการซัคคาลิน-2 แต่เชลล์ได้ลดมูลค่าสินทรัพย์ในรัสเซียแล้ว และจะถอนตัวออกจากรัสเซีย ในขณะที่ ญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมาก และโครงการซัคคาลินเป็นเพียงโครงการเดียวในขณะนี้ที่ตอบสนองความต้องการของญี่ปุ่นได้ประมาณ 8% ดังนั้น แนวโน้มที่รัสเซียจะจัดสรรผลประโยชน์ของญี่ปุ่นในโครงการนี้ จะสร้างความไม่สบายใจในโตเกียว หากรัสเซียระงับการส่ง ญี่ปุ่นจะต้องหาแหล่งใหม่ ซึ่งจะเพิ่มการแข่งขันต่อซัพพลายที่มีอยู่ ซึ่งอาจทำให้ราคาสูงขึ้นทั่วโลก ในขณะที่ ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นกำลังก่อเงินเฟ้ออยู่แล้ว
ที่มา: บีบีซี