ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารชั้นนำมาอย่างยาวนาน กำลังเตรียมความพร้อมที่จะจัดหาอาหารปริมาณมากและเปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการให้แก่ทั่วโลกอย่างยั่งยืน ตลอดจนตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกในด้านรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยการนำเสนออาหารแห่งอนาคต
ประเทศไทยโปรโมตตัวเองในฐานะ “ครัวโลก” โดยอาศัยความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ การลงทุนอย่างต่อเนื่องในนวัตกรรมอาหาร และความมุ่งมั่นตั้งใจรักษามาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ทั้งนี้ ในปี 2564 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ที่สุดอันดับที่ 13 ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออก 3.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ถึงกระนั้น ประเทศไทยก็ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ และกำลังผลักดันตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในส่วนของอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น รวมถึงสิ่งที่เรียกว่าอาหารแห่งอนาคต เช่น โปรตีนจากพืชและอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกโปรตีนทางเลือกรายใหญ่อันดับที่ 25 ของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกอาหารแห่งอนาคต 1.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2564 โดยมีตลาดส่งออกหลักคือสหรัฐอเมริกา จีน และเวียดนาม
การที่กลุ่มบริษัท วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร ตบเท้าเข้าสู่อุตสาหกรรมกันมากขึ้น ส่งผลให้การนำเสนออาหารแห่งอนาคตของไทยเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน เป้าหมายของบรรดาผู้ผลิตจึงไม่ได้มีเพียงแค่การสร้างสรรค์รสชาติและเนื้อสัมผัสให้เหมือนเนื้อสัตว์จริงเท่านั้น แต่ยังต้องสรรหาส่วนผสมหลักใหม่ๆ เช่น ถั่วลูกไก่ เห็ด และข้าวบาร์เลย์ นอกเหนือไปจากถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี นอกจากนี้ เครื่องปรุงที่ทำจากผลไม้ เครื่องเทศ และสมุนไพร ยังได้รับการรังสรรค์ขึ้นเพื่อเข้ามาช่วยเติมเต็มอาหารแห่งอาหารของไทยให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น
คุณสมิต ทวีเลิศนิธิ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช เล็ท แพล็น มีท (Let’s Plant Meat) กล่าวว่า กุญแจสู่ความสำเร็จ คือ การแสวงหาสมดุลระหว่างรสชาติ สุขภาพ และประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม “ผมคิดว่าใครก็ตามที่สามารถปรับเปลี่ยนความต้องการของผู้บริโภคไปสู่ความยั่งยืนและสุขภาพที่ดีขึ้น ถือว่าได้ทำประโยชน์ให้กับโลกใบนี้” เขาให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซี เอเชีย (CNBC Asia) “มันเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์รสชาติและกลิ่นหอม นี่คือกุญแจสำคัญ”
การยกระดับนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมภาคส่วนนี้ให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยไทยเฟ็กซ์ (Thaifex) งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้เปิดโอกาสให้นักบุกเบิกด้านอาหารได้แสดงความคิดสร้างสรรค์เสมอมา และทีมเทคโนโลยีอาหารจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันนวัตกรรมอาหารจากพืช ระดับภูมิภาคอาเซียน ประจำปี 2564 (ASEAN Food Innovation Challenge 2021) จากผลงาน “The Marble Booster” ซึ่งเป็นเนื้อวากิวที่ผลิตจากพืชผสมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน สารสกัดจากขมิ้น และสารสกัดจากพริกไทยดำ โดยจะวางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อในเร็วๆ นี้
โปรตีนทางเลือกอื่นๆ ของไทย เช่น แมลงที่สามารถรับประทานได้ ซึ่งมีรสชาติอร่อยและรู้จักกันเป็นอย่างดี รวมถึงโปรตีนทางเลือกจากแมลงเหล่านี้ ได้รุกเข้าสู่ตลาดหลายแห่งมานานแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และเกาหลีใต้ โดยแมลงที่ได้รับความนิยม เช่น จิ้งหรีดและตั๊กแตน ได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารประเภทต่าง ๆ รวมถึงอาหารกระป๋อง ขนมอบ และลูกอม ทั้งนี้ เนื่องจากความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหารกำลังกระตุ้นให้เกิดความต้องการเพิ่มขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยจึงตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดขายแมลงที่สามารถรับประทานได้รวมถึงผงโปรตีนจากแมลง ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกแมลงที่ยังมีชีวิตรายใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของโลก
ที่มา: ซีเอ็นบีซี เอเชีย