ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งมาเลเซียครั้งประวัติศาสตร์

ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งมาเลเซียครั้งประวัติศาสตร์

BF Economic Research Team

แนวร่วมฝ่ายค้าน “ปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan-PH)” นำโดย นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียวัย 92 ปี สามารถคว้าที่นั่งในสภาได้ 113 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่ง และจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งนับเป็นผลการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พรรค BN แพ้การเลือกตั้ง หลังจากวันที่มาเลเซียประกาศอิสรภาพ สิ่งที่น่าสนใจ คือ บางรัฐที่เคยเป็นฐานเสียงของ BN มาตลอดอย่าง Sabah Sarawak และ Johor กลับได้ที่นั่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ก่อนหน้านี้ PH ได้ประกาศแนวนโยบาย “10 สัญญาใน 100 วัน” (10 promises in 100 days) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
* ยกเลิกภาษี GST (Goods and Services Tax)
* กลับมาอุดหนุนราคาน้ำมันอีกครั้ง แต่ใช้เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย
* ยกเลิกหนี้ให้กลุ่มเกษตรกร Felda
* จัดตั้งกองทุนประกันสังคมมาเลเซีย (EPF) เพื่อกลุ่มแม่บ้าน
* ปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำขึ้น
* ลดภาระหนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษาในมหาวิทยาลัย
* จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบ 1MDB และ Felda
* คืนสิทธิในการปกครองตนเองให้ Sabah และ Sarawak ตามข้อตกลง MA63
* ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขในผู้มีรายได้น้อย
* ทบทวนโครงการภาครัฐอีกครั้ง อาทิ ECRL

จากแนวนโยบายของ PH อย่างการยกเลิก GST และการกลับมาอุดหนุนราคาน้ำมันนั้น น่าจะช่วยสนับสนุนการบริโภคของครัวเรือนได้ แต่ได้สร้างความกังวลถึงขนาดการขาดดุลทางการคลัง (Fiscal Deficit) ของมาเลเซียที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่ การลงทุนอาจชะลอลงจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น รวมถึงจากการทบทวนโครงการภาครัฐขนาดใหญ่บางโครงการที่ทำร่วมกับต่างประเทศอย่างรถไฟ ECRL ที่ร่วมลงทุนกับจีน หรือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่าง KL-Singapore ส่งผลให้เงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศมีแนวโน้มลดลง และอาจกระทบกับดุลการชำระเงิน (BOP) ของประเทศ

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเหนือความคาดหมายของตลาด เนื่องจากก่อนหน้านี้ตลาดคาดว่าพรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือ BN ภายใต้การนำของนาจิบน่าจะชนะการเลือกตั้ง แต่ได้ที่นั่งลดลง

ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียจะปิดทำการ 2 วันในวันที่ 10-11 พฤษภาคมนี้ ส่วนค่าเงินมาเลเซียที่ซื้อขายนอกประเทศ (Offshore Trading) อ่อนค่าลงหลังผลการเลือกตั้ง