ชาวอินเดียจำนวนมากต่างแสดงความยินดีที่ “ริชี ซูนัค” (Rishi Sunak) กำลังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกที่มีเชื้อสายอินเดียและนับถือศาสนาฮินดู ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในช่วงเทศกาลดิวาลี (Diwali) อีกทั้งยังประจวบเหมาะกับวาระครบรอบ 75 ปี ที่อินเดียหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษด้วย
ซูนัค วัย 42 ปี เตรียมก้าวขึ้นกุมบังเหียนรัฐบาลอังกฤษอย่างเป็นทางการในวันนี้ (25 ต.ค.) หลังจากที่อดีตนายกฯ ลิซ ทรัสส์ ได้สละตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง บอริส จอห์นสัน และเพนนี มอร์ดอนท์ ต่างประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม
การเถลิงเก้าอี้นายกฯ อังกฤษของ ซูนัค กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับของอินเดีย ขณะที่ชื่อของ ซูนัค และบริษัท อินโฟซิส (Infosys) ที่ก่อตั้งโดยพ่อตาของเขาก็เริ่มติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในอินเดียทันทีที่มีข่าวยืนยันว่าเขาได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ได้ออกมาทวีตข้อความยกย่อง ซูนัค ว่าเป็น “สะพาน” ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ
“หลังจากที่คุณเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรแล้ว ผมหวังว่าเราคงจะได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในประเด็นต่างๆ ของโลก และร่วมกันผลักดันโรดแมป 2030” โมดี กล่าว โดยอ้างถึงแผนยกระดับความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและอื่นๆ ระหว่างอังกฤษกับอินเดีย
ผู้นำอินเดียฝากคำอวยพรไปถึง ซูนัค โดยระบุว่า “ขอส่งคำอำนวยพรในเทศกาลดิวาลีไปยังสะพานที่มีชีวิต (living bridge) ของชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ในขณะที่เรากำลังเปลี่ยนจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ สู่ความเป็นหุ้นส่วนในยุคสมัยใหม่”
ซูนัค ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังอังกฤษ จะจุดเทียนวางไว้ที่ด้านนอกอาคารหมายเลข 11 ซึ่งเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของเขาบนถนนดาวนิงเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลดิวาลี หรือเทศกาลแห่งแสงไฟของชาวฮินดู และคนอินเดียจำนวนไม่น้อยมองว่าการที่ ซูนัค ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ในปีนี้ถือเป็นอะไรที่ “พิเศษ” มากๆ เพราะตรงกับช่วงครบรอบ 75 ปีที่อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ
“ริชี ซูนัค กล่าวสาบานตนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อหน้าคัมภีร์ภควัตคีตา ถ้าหากเขาทำเช่นนั้นในการสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย มันจะเป็นวันที่พิเศษมากสำหรับอินเดีย และยังตรงกับช่วงครบรอบ 75 ปีที่เราได้รับเอกราชจากอังกฤษด้วย” ดี. มูธูกฤษนัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์จากเมืองเชนไน ระบุ
ชาวอินเดียมักจะภาคภูมิใจเสมอเมื่อได้เห็นผู้ที่มีเชื้อสายอินเดียประสบความสำเร็จได้เป็นใหญ่เป็นโตในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ สัตยา นาเดลลา ซีอีโอไมโครซอฟท์ และซุนดาร์ พิชัย ซีอีโออัลฟาเบ็ท เป็นต้น
ครอบครัวของ ซูนัค ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นตาเป็นคนอินเดียจากรัฐปัญจาบที่อพยพไปตั้งรกรากในแอฟริกาตะวันออก ก่อนจะอพยพไปอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960
ราวี กุมาร ชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียวัย 38 ปี จากเมืองนอตติงแฮม ยอมรับว่านี่คือ “ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง” อย่างแท้จริง
“ผมเติบโตมาในยุค 80s และ 90s และไม่เคยคิดมาก่อนว่า จะได้เห็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่คนผิวขาวในช่วงชีวิตของผม” เขากล่าว “ผมคิดเสมอว่านี่เป็นประเทศของคนขาว และพวกเราเข้ามาอยู่ที่นี่ในฐานะลูกหลานผู้อพยพ ดังนั้น การได้เห็นผู้นำอังกฤษเชื้อสายอินเดียจึงเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก”
อย่างไรก็ตาม ซูนัค ก็ยังมีจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตี โดยเฉพาะเรื่องที่ อัคชาตา มูร์ธี (Akshata Murthy) ภรรยาชาวอินเดียของเขาไม่ได้จ่ายภาษีให้รัฐบาลอังกฤษ เนื่องจากแจ้งสถานะเป็นผู้อาศัยอยู่ในประเทศที่มิใช่ภูมิลำเนา (non-domiciled) ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อคะแนนนิยมของ ซูนัค ตอนที่เขาลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมแข่งกับ ลิซ ทรัสส์
หลังจากนั้นไม่นาน มูร์ธี ซึ่งถือหุ้น 0.9% ในอินโฟซิส ก็ออกมาประกาศว่าจะยอมจ่ายภาษีรายได้จากต่างประเทศให้แก่รัฐบาลอังกฤษ
นาเดีย วิทโทม (Nadia Whittome) ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคแรงงานซึ่งมีเชื้อสายอินเดีย พยายามออกมาเบรกกระแสเห่อผู้นำอังกฤษคนใหม่ โดยชี้ว่า “การได้ ริชี ซูนัค เป็นนายกฯ ไม่ถือเป็นชัยชนะสำหรับการเป็นตัวแทนคนเอเชีย”
“เขาเป็นมหาเศรษฐี และตอนที่เป็นรัฐมนตรีคลังก็เคยออกนโยบายลดภาษีจากผลกำไรของธนาคาร และตอนนั้นก็เป็นช่วงที่มาตรฐานการดำรงชีพตกต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1956 ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นคนดำ คนขาว หรือคนเอเชีย ถ้าคุณยังต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ เขาก็ไม่ได้ยืนอยู่ข้างคุณแน่ๆ”
ที่มา : รอยเตอร์