รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มกราคม ระบุว่า มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกกำลังกลายเป็นต้นเหตุของการค้ามนุษย์ เนื่องจากกลุ่มก่ออาชญากรรมหาประโยชน์และเอารัดเอาเปรียบผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก
รายงานที่รวบรวมข้อมูลจาก 141 ประเทศในช่วงปี 2017-2020 และบทวิเคราะห์การพิจารณาในชั้นศาลถึง 800 คดี ชี้ว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศกำลังเพิ่มช่องโหว่ของการค้ามนุษย์ ขณะที่การวิเคราะห์ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อการค้ามนุษย์ในระดับโลกอย่างเป็นระบบยังขาดหายไป แต่การศึกษาในระดับชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกชี้ว่า หายนะจากสภาพอากาศเป็นสาเหตุพื้นฐานของการค้ามนุษย์ และยังส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม การประมง และชุมชนอื่นๆ ที่ยากจน ซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลักในการดำรงชีวิต
ฟาบริซิโอ ซาร์ริกา ผู้เขียนหลักของรายงานยูเอ็นดีโอดีซี กล่าวว่า เมื่อผู้คนปราศจากปัจจัยยังชีพและถูกบังคับให้หนีจากชุมชน พวกเขาก็จะตกเป็นเหยื่อของผู้ค้ามนุษย์อย่างง่ายดาย
แค่ในปี 2021 ภัยพิบัติจากสภาพอากาศได้ทำให้ผู้คนกว่า 23.7 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ส่วนอีกหลายคนต้องหนีออกจากประเทศของตน และในขณะที่ภูมิภาคทั้งหมดของโลกกำลังเสี่ยงที่จะกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยมากขึ้นเรื่อยๆ คนนับล้านจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงที่จะถูกแสวงหาประโยชน์ตามเส้นทางการอพยพ
รายงานชี้ว่า เหยื่อการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่จะเกิดจากปัจจัยด้านสภาพอากาศในแอฟริกาและตะวันออกกลาง และมีการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นที่บังกลาเทศและฟิลิปปินส์จากไซโคลนและไต้ฝุ่นหลายลูก ขณะที่หน้าแล้งและน้ำท่วมในกานาก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนต้องอพยพเช่นกัน
สงครามในยูเครนก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์และถือเป็นสถานการณ์ที่อันตราย เพราะผู้คนหลายล้านคนหลบหนีออกจากประเทศที่บอบช้ำจากสงคราม การส่งการช่วยเหลือจากประเทศเพื่อนบ้าน และการเพิ่มการสนับสนุนต่างๆ ไปยูเครนจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เช่นเดียวกับการปิดสถานที่ อย่างผับและบาร์จากการระบาดของโควิด-19 ยังผลักให้เกิดการค้ามนุษย์บางรูปแบบ โดยเฉพาะการฉวยประโยชน์ทางเพศ ที่มีการหลบซ่อนมากขึ้นและมีสถานที่ ที่ปลอดภัยน้อยลง การแพร่ระบาดของโควิดยังได้จำกัดความสามารถในการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะในพื้นที่แถบเอเชีย ลาติน อเมริกา และแอฟริกาด้วย
อย่างไรก็ดี ปี 2020 เป็นปีแรกตั้งแต่ที่มีการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ 2003 ที่จำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ถูกตรวจสอบทั่วโลก ลดลงราว 11% เมื่อเทียบกับปี 2019
ที่มา: เอเอฟพี