โดย อรพรรณ บัวประชุม CFP® , BBLAM
เอ๊ะ … จะปรับพอร์ตตอนนี้ดีมั้ยนะ ติดลบกระจายเลย หรือ โห… พอร์ตบวกขนาดนี้ ต้องปรับพอร์ตมั้ยนะ ขึ้นแรงเกินไป!!! ไม่ว่าพอร์ตของเราจะขึ้น หรือจะลง ต่างก็มีข้อสงสัยกันว่า แล้วจังหวะไหนล่ะ ควรปรับพอร์ต
ลองสังเกต 3 สัญญาณที่บอกให้รู้ว่า ถึงเวลาต้องปรับพอร์ตกันแล้วนะ
สัญญาณแรกสถานการณ์ไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็น ช่วงโรคระบาด สงคราม เงินเฟ้อสูง จากเดิม หากเราจัดพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง 50% สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ 50% หรือ 50:50 แล้วพอร์ตการลงทุนของเรากลับกลายเป็น 40:60 เพราะเกิดการขาดทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงที่ลงทุนไป ทำให้มูลค่าเงินลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงปรับตัวลดลง ก็อย่าเพิ่งตกใจกันไป เราสามารถเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เพื่อปรับพอร์ตของเราให้กลับมาเป็น 50:50 ตามที่เราต้องการได้ แม้ว่าเราจะรู้สึกว่า ไม่อยากลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นเลย เพราะที่ผ่านมา ขาดทุนเยอะ แต่ช่วงจังหวะนี้แหละที่น่าลงทุน เพราะจะได้ต้นทุนที่ถูก และจากอดีตที่ผ่านมา เมื่อเกิดวิกฤต มักมีโอกาสเข้ามาเสมอ ดังนั้น ต้องฉวยโอกาสไว้ให้มั่นค่ะ
ส่วนใครที่พอร์ตได้ผลตรงกันข้ามกับสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้พอร์ตที่ตัวเองลงทุนอยู่จาก 50:50 กลับกลายเป็น 60:40 นั่นก็หมายความว่า สินทรัพย์เสี่ยงที่ลงทุนไปเติบโตขึ้นมาก จนไม่อยากจะปรับพอร์ต เพราะผลตอบแทนได้สูงเกินกว่าที่ตั้งใจไว้นั่นเอง ดังนั้น ในช่วงจังหวะนี้ ก็ควรปรับพอร์ตขายสินทรัพย์เสี่ยงสูงออก ให้คงเหลือในพอร์ต 50:50 เช่นกัน หรืออาจจะเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเพิ่ม เพื่อให้พอร์ตการลงทุนของเราเป็น 50:50 การปรับลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงลงก็เพื่อลดความเสี่ยง ลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนนั่นเอง
สัญญาณที่ 2อายุมากขึ้น บางครั้งเราลงทุน จนลืมไปเลยว่า ความเสี่ยงที่เรารับได้นั้นลดลง เพราะเนื่องจากอายุที่มากขึ้น เมื่อก่อน เราอาจจะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง 80% สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ 20% แต่เมื่ออายุมากขึ้น ระยะเวลาในการลงทุนน้อยลง ความสามารถในการรับความเสี่ยงก็จะน้อยลงไปด้วย การปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้น้อยลงก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ดังนั้น จึงควรทยอยปรับพอร์ต เพิ่มสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ และลดสินทรัพย์เสี่ยงสูงลง โดยอาจกำหนดลดสัดส่วนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงลง 5% ทุกๆ 5 ปี หรือตามความเหมาะสมกับเป้าหมายและระยะเวลาคงเหลือของตัวเอง
สัญญาณที่ 3เป้าหมายเปลี่ยน เพราะเป้าหมายของเราปรับเปลี่ยนได้ แม้ว่า บางครั้งอาจไม่ได้ปรับด้วยตัวของเราก็เถอะ อย่างเช่น เป้าหมายเกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้า เพราะเข้าใจมาตลอดว่า เกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และปีนี้เราอายุ 40 ปี แต่ปรากฎว่า ไม่ใช่ บริษัทที่เราทำงานอยู่ให้เกษียณอายุ 55 ปี ดังนั้น จากที่วางแผนจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับ 20 ปี ก็จะต้องปรับลดระยะเวลาลงทุนเหลือเพียง 15% สัดส่วนการลงทุนในพอร์ตก็ต้องปรับกันใหม่ ต้องดูว่า สินทรัพย์เสี่ยงสูงมีเท่าไหร่ต้องปรับลดลงหน่อยดีมั้ย หากลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม แต่ระยะเวลาน้อยลง และโอกาสในการได้รับผลตอบแทนน้อยลงด้วย เป้าหมายที่เราวางแผนไว้จะยังคงไปถึงหรือเปล่า หากคำนวณแล้วไปไม่ถึง ต้องดูความสามารถของเราว่า สามารถเพิ่มเงินลงทุนขึ้นได้มั้ย หรือยังรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้เท่าเดิม เพื่อให้พอร์ตการลงทุนของเรายังคงไปต่อสำหรับเป้าหมายที่ตั้งใจได้
และไม่ว่าจะอย่างไร จะสถานการณ์ไหน เงื่อนไขเรื่องระยะเวลาและเป้าหมายจะเป็นอย่างไร การลงทุนที่ช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น วิธีนึง ก็คือ การลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเงินจำนวนเท่าๆ กันด้วยวิธี DCA แต่อย่าลืมว่าเมื่อรายได้มากขึ้น ก็ควรเพิ่มเงินลงทุนใน DCA กันด้วยนะคะ