เมื่อเข้ากลางเดือนมี.ค. เริ่มมีข่าวเกี่ยวกับ Silver Gate Bank (ที่ประสบกับปัญหาสภาพคล่องจากการถูกถอนเงินฝากในรูป Crypto Currency) และสถานการณ์ประทุรุนแรงมากขึ้น เมื่อลูกค้าของ Silicon Valley Bank (ที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในกลุ่ม Tech ประสบกับปัญหาลูกค้าแห่ถอนเงินเช่นเดียวกัน เป็นผลให้ทั้งสองธนาคารต้องปิดตัวและเข้าสู่กระบวนการขอรับความช่วยเหลือจากทางการ สถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อหุ้นของธนาคาร Credit Suisse (เป็นธนาคารที่ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนักมาระยะใหญ่แล้ว) ดิ่งลงอย่างรวดเร็วเหตุจากผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือ Saudi National Bank ปฏิเสธการเพิ่มทุน
แม้ว่า แต่ละธนาคารมีสาเหตุของปัญหาที่แตกต่างกัน แต่เมื่อเกิดปัญหาการถอนเงินในระยะเวลาใกล้ๆ กัน ความไม่เชื่อใจของผู้ฝากเงินต่อธนาคารจึงลุกลามบานปลายไปยังธนาคารอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เป็นผลให้เกิดการแห่ถอนเงินฝาก กระทั่ง Credit Rating Agency หลายเจ้าออกมาประกาศพิจารณาปรับลด Credit Rating ธนาคารในสหรัฐฯ
เหตุการณ์ Bank run/Crisis ถือเป็นสถานการณ์ที่วิกฤติและมีความจำเป็นยุติให้เร็วที่สุด ทางการจึงมีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์แทบจะในทันที มาตรการที่ทางการได้ทยอยปล่อยออกมา ได้แก่
- สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงิน ด้วยการให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากคุ้มครองผู้ฝากเต็มจำนวน
- เข้าบริหารธนาคารที่ประสบปัญหา และพยายามหาผู้ซื้อธนาคารให้เร็วที่สุด
- เปิดช่องทางอัดฉีดสภาพคล่องผ่านช่องทางอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลาง เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของระบบการเงิน
- เข้าตรวจสอบปัญหาและทำ Stress Test ของธนาคารเพื่อหาทางแก้ไขในระยะต่อไป
ประเด็นคำถามถัดไป คือ Bank Run นี้ จะสามารถยุติได้หรือไม่ Paul Krugman ได้ให้ความเห็นกับประเด็นนี้ว่า ทางการออกมาตรการทั้งหมดที่ควรทำแล้ว แต่ Bank จะหยุด Run ก็ต่อเมื่อ ลูกค้าหยุดตกใจ ซึ่งจะหยุดตกใจได้เมื่อไหร่นั้น เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ คือ พบว่าผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินจากธนาคารขนาดเล็กและกลางแล้วนำเงินไปฝากธนาคารขนาดใหญ่ ยิ่งเป็นภาระให้กับธนาคารขนาดใหญ่ในการบริหารจัดการเงินฝาก ซึ่งถือเป็นต้นทุนของธนาคาร
ผู้ลงทุนได้เริ่มตั้งคำถามกับคุณภาพของหุ้นกู้ที่ออกโดยธนาคารว่า จะเป็นหุ้นกู้ประเภทไหน จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ ขณะที่ธนาคารกำลังเผชิญกับ Cost of Funding ที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก Credit Rating ที่อาจถูกปรับลดลง
นอกเหนือไปจากนั้น ด้วยทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินยังคงเป็นดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกความท้าทายต่อธุรกิจธนาคารที่ยังต้องประสบปัญหา Mark to Market Loss ในเชิงบัญชี (จากที่ปัจจุบัน Loss ในเชิงบัญชีอยู่แล้ว 2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ)
อย่าลืมว่า การให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจากธนาคารกลางมีต้นทุนแฝงต่อธนาคารพาณิชย์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Bank Term Funding Program, Discount Window, หรือ Inter-bank Funding ต่างมีต้นทุนการกู้ยืม เมื่อปี 2008 การใช้สภาพคล่องเหล่านี้อาจจะเหมือนให้ฟรี แต่เดี๋ยวนี้เป็นยุคดอกเบี้ยขาขึ้น เฉพาะแค่อัตรา OIS ขยับไปอยู่ที่ 4.6% แล้วดังนั้น แม้ว่า ธนาคารพาณิชย์จะได้รับการอัดฉีดสภาพคล่อง แต่ต้นทุนการใช้สภาพคล่องก็ไม่ได้ถูกเมื่อเทียบกับช่วงปี 2008 ถ้าดอกเบี้ยนโยบายยังยืนสูง ไม่ว่า Fed จะช่วยธนาคารพาณิชย์วิธีไหน ก็เป็นการช่วยเหลือราคาแพงอยู่ดี