สื่อ ตปท.ชี้ ผลเลือกตั้ง ‘จุดเปลี่ยนประเทศไทย’ จับตา ‘กลุ่มอนุรักษ์-ทหาร’ รอมชอม ‘กลุ่มเสรีนิยม’ ได้หรือไม่ หลังก้าวไกลชนะขาด
สำนักข่าวต่างประเทศ ติดตามผลการเลือกตั้งไทย และวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จะตามมา หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งพรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายเหนือความคาดหมายของหลายฝ่าย และยังมองไปถึงการตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความเป็นไปได้ที่อาจเกิดความวุ่นวายขึ้นตามมา
บีบีซี ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในไทยปฏิเสธรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร ในการเลือกตั้งที่ได้รับการพูดถึงว่าถือเป็น “จุดเปลี่ยนของประเทศไทย” ซึ่งเผชิญกับการรัฐประหารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แม้ว่า ผลการเลือกตั้งจะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ จากคณะกรรมการการเลือกตั้งหลังจากนี้อีกหลายสัปดาห์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในความเห็นของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของไทยทุกเพศทุกวัย ที่เต็มใจจะเสี่ยง หรือให้โอกาสกับนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ แม้พวกเขาจะยังไม่ผ่านการทดสอบใดๆ ก็ตาม
อย่างไรก็ดี แม้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจะประสบความสำเร็จ แต่อาจต้องเผชิญกับศึกแย่งชิงอำนาจเมื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร 250 คน ร่วมกันลงคะแนนเลือก
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งของไทยปฏิเสธชัดเจนต่อรัฐบาลที่มีทหารหนุนหลัง และให้การสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านหลักทั้ง 2 พรรค ที่คาดว่าจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ดี การที่พรรคก้าวไกลเดินหน้าผลักดันการปฏิรูปกฎหมาย อาจก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมและทหารที่ยังคงมีอำนาจ ในประเทศที่การรัฐประหารและคำสั่งศาลมักจะมีชัยชนะเหนือผลการลงคะแนนเสียง ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่า ผลการเลือกตั้งอาจถูกสกัดขัดขวาง ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่มั่นคงรอบใหม่
จากการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งไป 97% พรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมต่อพรรค 13.5 ล้านเสียง ขณะที่ พรรคเพื่อไทยมี 10.3 ล้านเสียง ความสำเร็จที่โดดเด่นของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นช่องทางแสดงพลังของกลุ่มเยาวชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่สร้างความสั่นสะเทือนในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2563
ผลที่ตามมาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ กระแสโจมตีอย่างหนักต่อพรรคเพื่อไทย จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งล่าสุดของนายทักษิณ ชินวัตร บิดาของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อีกด้วย
แม้จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยอาจต้องเผชิญกับการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เขียนขึ้นโดยรัฐบาลทหาร นอกจากนี้ ยังมีข่าวแพร่สะพัดไปทั่วว่าพรรคก้าวไกลอาจถูกยุบ เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้
เอเอฟพี สรุปว่า หลังจากที่เกิดรัฐประหารขึ้นนับสิบครั้งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ตลอดกว่า 2 ทศวรรษ ประเทศไทยก็ตกอยู่ในการประท้วงตามท้องถนน การรัฐประหาร และคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง จึงยังคงเป็นที่จับตามองว่ากลุ่มอนุรักษนิยมและทหารจะหาทางปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกับกลุ่มผู้เห็นต่างได้หรือไม่
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ ชี้ว่า ชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านของไทยถือเป็นการเปิดฉากไปสู่ความวุ่นวายในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อยุติการปกครองของกลุ่มอนุรักษนิยมที่ยืนยาวมาเกือบทศวรรษในไทย ภายใต้การหนุนหลังโดยกองทัพ
อย่างไรก็ดี ยังห่างไกลจากความแน่นอนว่า ทั้งสองพรรคจะได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จากรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นหลังรัฐประหาร โดยพรรคฝ่ายค้านจะต้องทำข้อตกลงและรวบรวมเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย ซึ่งรวมถึงวุฒิสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย
การต่อสู้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายในศึกที่ยืดเยื้อ ระหว่างพรรคเพื่อไทยของตระกูลชินวัตรกับสายสัมพันธ์ของกลุ่มอนุรักษนิยมและทหาร ซึ่งเป็นหัวใจของความวุ่นวายในไทยยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ โดยผลลัพธ์เบื้องต้นสร้างความเสียหายให้กับกองทัพและพันธมิตร
ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กระแสของพรรคก้าวไกลแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทย
“พรรคเพื่อไทยทำสงครามผิด พวกเขาต่อสู้ในสงครามประชานิยมซึ่งได้รับชัยชนะไปแล้ว แต่พรรคก้าวไกลได้ยกระดับการต่อสู้ไปอีกขั้นด้วยการปฏิรูป ซึ่งนั่นคือ สมรภูมิใหม่ของการเมืองไทย” ฐิตินันท์ ระบุ
ส่วนสำนักข่าวเอพี รายงานว่า พรรคฝ่ายค้านของไทยเอาชนะคู่แข่งได้อย่างง่ายดาย ช่วยเติมเต็มความหวังของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนมากว่าการออกไปใช้สิทธิจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลง 9 ปีหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวขึ้นสู่อำนาจจากการรัฐประหารในปี 2557
เสาวนีย์ ที.อเล็กซานเดอร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า นี่คือ สัญญาณที่ดีสำหรับประชาธิปไตย มันคือ การที่ผู้คนบอกว่าพวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง พวกเขากำลังบอกว่าพวกเขารับมันไม่ได้อีกต่อไป ประชาชนเดือดร้อนมาก พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง และพวกเขาทำให้มันเกิดขึ้นได้
อเล็กซานเดอร์ ระบุว่า สถานการณ์ก็ยังคงคาดเดาไม่ได้ และคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการเลือกตั้งได้ โดยในอดีตพวกเขาจะใช้อำนาจเพื่อตัดสิทธิฝ่ายค้าน และจัดการกับความท้าทายที่มีต่อฝ่ายอนุรักษนิยม
อย่างไรก็ดี เอพี มองว่า มีความเป็นไปได้ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะตกเป็นเป้าหมายในสิ่งที่ฝ่ายค้านเคยประสบมาแล้ว และระบุว่าเป็นกลอุบายสกปรก จากการยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยกล่าวหาพิธาว่า ไม่นำรายละเอียดในการถือหุ้นสื่อสำแดงไว้ในรายการทรัพย์สินตามกฎหมาย ซึ่งเคยทำให้หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่สูญเสียที่นั่งในสภาด้วยเหตุผลทางเทคนิคที่คล้ายคลึงกัน และจบลงด้วยการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกมองว่าท้าทายอย่างรุนแรงต่อสถาบัน และกลุ่มอนุรักษนิยมมาแล้ว
ที่มา: รอยเตอร์