ภายใต้ท้องฟ้าสีครามและสายฝนโปรยปราย บรรดาผู้นำของประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกรวมตัวกันที่เมืองฮิโรชิมา เพื่อร่วมรำลึกถึงความน่าสะพรึงกลัวของอาวุธนิวเคลียร์ ก่อนประกาศคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย
(จากซ้ายไปขวา) ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป, นายกรัฐมนตรี จอร์เจีย เมโลนี ของอิตาลี, นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ของแคนาดา, ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น, ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา, นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี, นายกรัฐมนตรี ริชี ซูนัค ของอังกฤษ และเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ถ่ายภาพร่วมกัน หลังจากวางพวงมาลาระหว่างการเยี่ยมชมสวนอนุสรณ์สันติภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดผู้นำจี 7 ในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม (Photo by JAPAN POOL / JIJI PRESS / AFP)
เอเอฟพี รายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า บรรดาผู้นำกลุ่ม จี 7 เดินทางถึงฮิโรชมา และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ที่เมืองแห่งนี้
ผู้นำญี่ปุ่นต้องการใช้เมืองที่เคยโดนถล่มด้วยอาวุธนิวเคลียร์แห่งนี้ เป็นการนำสู่วาระการประชุมเพื่อลดการสะสมอาวุธดังกล่าวในขณะที่กลุ่มผู้นำจะจัดการเจรจาเป็นเวลา 3 วัน
ภายหลังเสร็จสิ้นการวางพวงมาลาที่อนุสรณ์สถาน บรรดาผู้นำได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สันติภาพฮิโรชิมา ซึ่งมีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับความหายนะและความทุกข์ทรมานที่เกิดจากการโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488
สื่อต่างๆ ถูกกันไม่ให้เข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ท่ามกลางการคาดเดาว่า บรรดาผู้นำจะเข้าชมเฉพาะปีกตะวันออกของอาคารซึ่งอธิบายถึงอันตรายของสงครามนิวเคลียร์ หรืออาจผ่านไปยังอาคารหลักซึ่งมีภาพถ่ายที่น่าสยดสยองและสะเทือนใจของเหยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ
เมื่อสิ้นสุดการเยี่ยมชม ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ก็มีพิธีกลุ่มเพื่อปลูกต้นซากุระที่ขยายพันธุ์จากต้นไม้ที่รอดจากระเบิดปรมาณู
กระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น กล่าวว่า การเยือนของบรรดาผู้นำ “จะทำให้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความเป็นจริงของการทิ้งระเบิดปรมาณู”
ผู้นำญี่ปุ่น หวังอย่างยิ่งว่า ประเทศมหาอำนาจผู้สะสมอาวุธนิวเคลียร์อย่างอังกฤษ,ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ จะตระหนักและให้ความร่วมมือในการลดอาวุธดังกล่าว ไม่นับรวมรัสเซียที่ขู่จะใช้นิวเคลียร์ในการทำสงคราม, จีนที่กำลังเพิ่มคลังอาวุธของตนเอง และเกาหลีเหนือที่แสดงตนว่า เป็นรัฐนิวเคลียร์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้และเดินหน้าทดสอบอาวุธใหม่ต่อไป
ที่มา: เอเอฟพี